เคล็ดลับสุดยอด เทคนิคการบริหารเวลา

  • น้องเคยไหม ที่ตั้งใจว่าจะอ่านหนังสือตั้งแต่เวลานี้ถึงเท่านี้ อ่านให้จบบทนี้ วางแผนไว้เป็นอย่างดี แต่สุดท้ายก็ทำไม่ได้
  • น้องเคยไหม ที่ตั้งใจวางแผนทำโครงการพร้อมรายงานส่งอาจารย์ซะอย่างดิบดี แต่สุดท้ายก็กลายเป็นงานเผา นั่งปั่นทั้งคืนก่อนจะส่งทันเส้นตายไปอย่างเฉียดฉิว

แล้วน้องก็บอกกับตัวเองว่าน้องมีความพยายามไม่พอ มุมานะพยายามน้อยเกินไป ขาดวินัย ขี้เกียจ ควบคุมตัวเองไม่ได้

แต่พี่จะบอกน้องว่า “น้องเป็นคนปกติครับ” พวกที่ทำได้น่ะ “มันเป็นพวกเหนือมนุษย์ครับ” พฤติกรรมแบบนี้ได้รับการพิสูจน์มาแล้วด้วยงานวิจัยทางพฤติกรรมศาสตร์มากมาย ก่อนจะสรุปว่า “มนุษย์เราทุกคนล้วนแต่มีปัญหาแบบนี้กันทุกคน” ระบบการบริหารจัดการที่ดีต่างหาก ที่ช่วยแก้ปัญหาเหล่านี้ได้

ก่อนพี่จะพูดต่อไป พี่ขอเล่าถึงงานวิจัยชิ้นนึงให้ฟังกันนะครับ

น้องรู้จัก Dan Ariely ไหมครับ?

Dan Ariely เป็นตัวพ่อด้านเศรษฐศาสตร์เชิงพฤติกรรมคนนึงของโลก เค้าก็สงสัยเหมือนกับเรานี่แหละครับว่า ทำไมน้อ คนเราต้องผัดวันประกันพรุ่ง ทำไมคนเราไม่สามารถบังคับตัวเองให้ทำในสิ่งที่อยากทำไม่ได้ เค้ากับเพื่อนๆจึงทำการทดลองขึ้นมาชิ้นนึงครับ

เค้าทดลองกับนักศึกษาที่เรียนเรื่องพฤติกรรมผู้บริโภคกับเค้าที่ MIT (Massachusetts Institute of Technology) โดยในคาบแรก Dan ก็อธิบายโครงสร้างของหลักสูตรให้นักศึกษาฟังว่า ตลอดทั้ง 12  สัปดาห์ นักศึกษาต้องทำรายงานทั้งหมด 3 ฉบับ และรายงานพวกนั้นจะเป็นตัวกำหนดเกรดของนักศึกษา แต่ว่าเค้ากำหนดเส้นตายการส่งรายงานของนักศึกษาแต่ละ section ไม่เหมือนกันครับ

sec 1 เค้าให้นักศึกษากำหนดเส้นตายด้วยตัวเอง โดยการให้นักศึกษาแต่ละคนเขียนมาส่งเค้าว่า รายงานฉบับที่ 1, 2 และ 3 นั้นจะมาส่งเค้าวันไหน และถ้ามาส่งหลังจากที่ตัวเองให้สัญญาไว้จะถูกตัดคะแนน

sec 2 เค้าบอกกับนักศึกษาว่ารายงานของเค้าไม่มีเส้นตายใดๆทั้งสิ้น นักศึกษาจะส่งวันไหนก็ได้ ขอแค่ส่งภายในวันสุดท้ายของการเรียนการสอนก็พอ

sec 3 เค้ากำหนดเส้นตายการส่งรายงานทั้ง 3 ฉบับของนักศึกษาด้วยตัวเอง โดยกำหนดที่สัปดาห์ที่ 4 8 และ 12 ของการเรียนการสอนตามลำดับ

น้องลองทายซิว่า sec ไหนได้คะแนนสูงสุด

คำตอบคือ sec 3 ได้คะแนนสูงที่สุดครับ รองลงมาคือ sec 1 และ sec ที่ได้คะแนนห่วยที่สุดคือ sec 2

การทดลองนี้บอกอะไรแก่เรา?

อย่างแรกเลยก็คือ งานวิจัยนี้บอกว่า นักศึกษามีนิสัยผัดวันประกันพรุ่งจริงๆครับ ไม่เว้นแม้แต่กับนักศึกษาของ MIT ซึ่งจัดได้ว่าเป็นระดับหัวกะทิของโลก

อย่างที่สอง การจำกัดอิสรภาพโดยการกำหนดเส้นตายอะไรสักอย่างให้จากเบื้องบน เป็นวิธีการแก้ไขการผัดวันประกันพรุ่งที่ดีที่สุด

อย่างที่สาม ซึ่งถือว่าเป็นการค้นพบครั้งใหญ่เลยก็คือ การมอบเครื่องมือให้นักศึกษาสามารถกำหนดเส้นตายด้วยตัวเองได้ ก็สามารถช่วยให้พวกเค้ามีคะแนนที่ดีขึ้นได้แล้ว บ่งบอกว่าจริงๆแล้วนักศึกษาก็รู้ตัวเองดีว่า ลึกๆแล้วตัวเองก็มีนิสัยผัดวันประกันพรุ่ง และเมื่อพวกเขาได้รับโอกาส พวกเค้าก็พร้อมที่จะสู้กับมัน ดังที่จะเห็นได้จากการที่นักศึกษา sec 1 พยายามกำหนดเส้นตายของการส่งรายงานแต่ละเล่มให้ห่างๆกัน ไม่อัดกันอยู่แต่ในสัปดาห์สุดท้ายอย่างเดียว

ถ้านำคะแนนของ sec 1 มาวิเคราะห์อย่างละเอียด จะพบว่าคนที่กำหนดเว้นตายไว้ห่างๆกัน จะได้คะแนนพอๆกับ sec 3 แต่สาเหตุที่คะแนนรวมได้น้อยกว่า sec 3 เป็นเพราะมีนักศึกษา sec 1 ส่วนน้อย กำหนดเส้นตายไว้ติดๆกันนั่นเองครับ

การทดลองนี้แสดงให้เห็นถึงอะไรบ้าง

การทดลองนี้บอกเราว่า “มนุษย์เกือบทุกคนมีปัญหาเรื่องการผัดวันประกันพรุ่ง แต่ถ้าเรามองเห็น และยอมรับจุดอ่อนของเราตรงนี้ เราก็สามารถที่จะแสวงหาเครื่องมือต่างๆมาเพื่อผูกมัดเราล่วงหน้า และเมื่อเราทำเช่นนั้น เราก็สามารถเอาชนะการผัดวันประกันพรุ่งได้”

จำไว้เสมอว่า “มนุษย์ทุกคนล้วนถูกดึงดูดด้วยกิเลส แรงกระตุ้นชั่ววูบ และความสุขระยะสั้น ซึ่งนั่นเป็นสาเหตุให้เป้าหมายระยะยาวของเราพังไม่เป็นท่าครับ”

เพราะฉะนั้น key ของความสำเร็จระยะยาวอยู่แค่ที่คำว่า “เครื่องมือที่ใช้ผูกมัดตัวเอง” เท่านั้นเองครับ

แต่ละคนมีเทคนิคและเครื่องมือที่ไม่เหมือนกันครับ บางคนใช้ระบบการให้รางวัลและลงโทษตัวเอง เช่น ถ้าวิ่งได้เท่านี้กิโล จะกินขนมได้เท่านี้ หรือ ถ้าอ่านหนังสือเรื่องนี้จบก่อนวันนี้ เวลาที่เหลือจะเอาไปเล่นเกมส์ ถ้าทำไม่ได้จะต้องลบเกมส์ที่รักทิ้ง

หรือบางคนล้ำไปกว่านั้นคือ ใช้จิตผูกมัดตัวเอง คือฝึกสมาธิจนตัวเองสามารถสั่งจิตได้ ส่วนตัวพี่เองก็เคยลองใช้วิธีนี้คือลองฝึกทำสมาธิดู ปรากฏว่ามันได้ผลดีมากจริงๆนะครับ ขนาดพี่ยังไม่ได้ฝึกถึงขั้นสั่งจิตได้ แต่พอมีฝึกถึงจุดๆนึงแล้วพี่รู้สึกกลัวครับ ไม่รู้ว่าความกลัวมาจากไหน มันวาบหวิวของมันเอง จู่ๆก็เกิดขึ้นมาซะอย่างนั้น กลัวตัวเองจะเห็นนิมิตรและหลุดไปซะก่อน ก็เลยหันไปพึ่งวิธีอื่น

หรือถ้าใครไม่สามารถหาเครื่องมือได้จริงๆ มีอีกวิธีคือน้องต้องหาคนที่อยู่เบื้องบนน้องมาสั่งน้องครับ คนนั้นอาจเป็นครูที่ถ้าน้องไม่ทำตามแล้วน้องอาจถูกหักคะแนนได้ อาจเป็นพ่อแม่ที่ถ้าน้องทำตามสิ่งที่พ่อแม่สั่งไม่สำเร็จ น้องจะต้องถูกหักเงินค่าขนม หรือน้องอาจต้องโทรรายงานแฟนทุกวันว่าน้องทำสำเร็จอย่างที่ตั้งใจไว้ไหมในวันนี้ ถ้าทำไม่สำเร็จ น้องต้องเอาเงินค่าขนมยกให้แฟนทั้งหมด ในลักษณะนี้ ซึ่งอาจเป็นใครก็ได้ที่น้องเชื่อฟัง เกรงใจ และทำตามคำสั่งของเค้า และตัวเค้าก็มีอำนาจสามารถที่จะลงโทษน้องได้ เมื่อน้องไม่ทำตาม

ส่วนตัวพี่ใช้ Google Calendar

เดี๋ยวนี้มี application ช่วยน้องในการบริหารจัดการเวลามากมายครับ app พวกนี้สามารถเป็นเครื่องมือที่ช่วยน้องในการผูกมัดตัวเองได้เป็นอย่างดี พี่นั้นออกจะโบราณสักหน่อยเลยเลือกใช้อะไรโบราณๆหน่อยอย่าง google calendar

ส่วนตัวที่พี่ชอบ google calendar มากที่สุดเพราะมันใส่สีได้ด้วยว่ากิจกรรมพวกนี้เป็นประเภทไหน อาจแบ่งเป็นประเภท งาน, เรียน, กิจกรรม, อ่านหนังสือ, พักผ่อน, พัฒนาตัวเอง การที่มันเป็นสี ทำให้เราเห็นได้ชัดว่าเราใช้เวลากับกิจกรรมประเภทไหนมากหรือน้อยเกินไปหรือเปล่า

เครื่องมือที่น้องใช้ในการช่วยผูกมัดตัวเองควรมีลักษณะคือ 1.ช่วยน้องจัดตารางและบริหารจัดเวลาได้ 2.สามารถเตือนน้องได้ตลอดเวลาว่าตอนนี้ต้องทำอะไร และหากน้องมีวินัยไม่พอจะทำตามแผนที่วางไว้น้องต้องเอาระบบให้รางวัลและการลงโทษมาใช้ด้วย  การมีกลุ่มเพื่อนที่มีเวลาวินัยก็ช่วยได้มาก โดยเฉพาะเมื่อน้องวางแผนการอ่านไว้เหมือนๆกัน ถ้าน้องไม่อ่านเมื่อไร น้องก็จะมาคุยกับเพื่อนไม่รู้เรื่อง น้องก็จะเริ่มกดดันละ มันก็เป็นวิธีการลงโทษทางสังคมวิธีหนึ่งเหมือนกัน

เทคนิคการบริหารเวลา

วิธีการบริหารจัดการเวลาของพี่นั้น พี่ไปลอกวิธีของคุณรวิศ หาญอุตสาหะ มาใช้เลย (คุณรวิศเป็นเจ้าของแบรนด์ศรีจันทร์ น้องน่าจะรู้จักกันนะครับ) วิธีการคือก่อนจัดตารางเวลาให้เขียนสิ่งที่เราต้องทำมาทั้งหมดก่อน อย่างพี่จะจัดตารางใหม่ทุกสัปดาห์ เพราะฉะนั้นวันเสาร์ค่ำๆ พี่จะเขียนว่าในสัปดาห์หน้ามีอะไรที่พี่ต้องทำบ้าง ลองนึกๆแล้วเขียนออกมาให้หมดครับ ไม่ว่าจะเป็นคุยกับแฟน เล่นกับหมาแมว ทำกีฬาสีที่โรงเรียน list ออกมาให้หมดเลยครับ

หลังจาก list ออกมาแล้ว ให้จัดกลุ่มรายการที่ต้องทำตาม list เป็น 4 กลุ่มคือ

  1. เร่งรีบและสำคัญ
  2. ไม่เร่งรีบแต่สำคัญ
  3. เร่งรีบแต่ไม่สำคัญ
  4. ไม่เร่งรีบและไม่สำคัญ

การจัดสิ่งที่ต้องทำลงไปในตารางนั้น แน่นอนว่าให้เอาสิ่งที่ เร่งรีบและสำคัญใส่ไปหมดให้เต็มเป็นอย่างแรก

จากนั้น จะเหลือข้อ 2 และ 3 คือ ไม่เร่งรีบแต่สำคัญ กับ เร่งรีบแต่ไม่สำคัญ น้องจำไว้นะครับว่า คนที่มีปัญหาด้านการบริหารเวลาคือคนที่เสียเวลาทั้งชีวิตไปกับการทำข้อ 3 คือ เร่งรีบแต่ไม่สำคัญครับ !!!! พวกสิ่งที่เร่งรีบแต่ไม่สำคัญ เช่น ไปเดินช็อปปิ้งก่อน sale วันสุดท้ายจะหมดเขต, คุยโทรศัพท์กับแฟน พวกนี้เป็นพวกเร่งรีบแต่ไม่สำคัญครับ ดังนั้นให้น้องเอาสิ่งที่ไม่เร่งรีบแต่สำคัญใส่ลงไปก่อน!!! แล้วถ้าน้องทำ list ในข้อ 2 ไปเรื่อยๆทุกวันนะครับ น้องจะพบว่าน้องจะไม่มีพวกข้อ 1 คือพวกเร่งรีบและสำคัญเหลืออยู่เลย ในทางกลับกันหากน้องพบว่าน้องมีข้อ 1 เหลืออยู่เต็มไปหมด ใส่ไปในตารางเท่าไรก็ทำไม่ทัน หมายความว่าน้องมีปัญหาเรื่องการบริหารเวลาแล้วครับ

สุดท้าย ถ้าตารางน้องยังว่าง พอมีเวลาเหลือ ให้น้องค่อยๆใส่สิ่งที่เร่งรีบแต่ไม่สำคัญกับสิ่งที่ไม่เร่งรีบและไม่สำคัญลงไปตามลำดับครับ

สิ่งสุดท้ายที่อยากฝากไว้

สิ่งสุดท้ายที่อยากฝากไว้คือ เวลาน้องจัดตารางเวลา น้องอย่าทำตัวเป็น Superman ครับ พยายามจัดเท่าที่เราทำได้จริงๆ ไม่งั้นน้องฟิตทำได้อยู่ 2-3 วัน จากนั้นก็จะตบะแตกไปซะก่อน พอตบะแตกบ่อยๆ สุดท้ายน้องก็จะท้อที่ตัวเองทำไม่ได้สักที แต่ถ้าน้องค่อยๆวางแผนและทำตามที่ทำได้ตามความจริง น้องจะค่อยๆเกิดความภูมิใจในตัวเองที่น้องทำได้ แล้วน้องจะเริ่มควบคุมตัวเอง ควบคุมเวลาได้ดีขึ้นเรื่อยๆเองครับ

แล้วโดยปกติคนเราอ่ะครับ มันจะมีสิ่งที่อยากปรับปรุงตัวเองหลายอย่างอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นอยากนอนให้เร็วขึ้น อยากออกกำลังกาย อยากอ่านหนังสือเยอะๆ อยากลดน้ำหนัก ทีนี้ถ้าน้องฟิต อยากทำทุกอย่างพร้อมกัน จะเกิดเหตุการณ์ที่ว่า น้องจะทำได้อยู่ 2-3 วันครับ จากนั้นก็จะตบะแตกกลับไปเหมือนเดิม พี่แนะนำให้น้องค่อยๆพัฒนาตัวเองไปทีละอย่างครับ อาจเริ่มจากนอนให้เร็วขึ้นก่อนก็ได้ จากนั้นทุกๆอย่างมันจะค่อยๆตามมาเองครับ

อย่างไรซะ หากน้องเกิดภาวะวิกฤต อ่านหนังสือไม่ทันแล้ว น้องจะอยู่ภาวะโดนบังคับให้รีดพลัง superman ออกมา x 3 อยู่แล้วครับ ไม่ต้องห่วง

หลังจากน้องอ่านบทความนี้จบ น้องคงไม่แปลกใจนะครับ ว่าทำไมคนเราถึงเป็นหนี้บัตรเครดิตกันเต็มไปหมด ทำไมเงินฝากในบัญชีถึงหร่อยหรอ และทำไมทุนสำรองเลี้ยงชีพที่บังคับหักเงินทุกเดือนถึงประสบความสำเร็จกว่ากองทุน RMF นั่นก็เป็นเพราะว่า คนเรามัวแต่ไขว่ขว้าความสุขระยะสั้น จนเป้าหมายระยะยาวค่อยๆพร่ามัวและเลือนลางไปในที่สุดครับ


Share this:

Posted in บทความ.

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *