😏😏เคยสงสัยกันมั้ยว่าเงินเดือนข้าราชการเวลาปรับขึ้น ปรับยังไงมีหลักตายตัวมั้ย ทำไมบางที่ขึ้น 500 บาท บางที่ขึ้น 400 บาท แล้วข้าราชการเงินเดือนอันน้อยนิดนั้นจะได้ขึ้นปีละกี่บาทกัน คำตอบคือมันมีปัจจัยอยู่ 2 ส่วน คือ 1.ตัวบุคคล 2หน่วยงาน (ก็แน่ละที่ไหนก็เป็นกัน แล้วจะมาบอกทำมะเขืออะไร) เพราะการขึ้นเงินเดือนของระบบข้าราชการนั้นจะเป็นระบบการขึ้นตามฐานเงินเดือน ตัวอย่างฐานเงินคำนวณเงินเดือนของ ก.พ. ที่มีผลการเลื่อนตั้งแต่ปี 2560 เป็นต้นไป (ฉบับใหม่สามารถติดตามได้จาก www.ocsc.go.th)
โดยปกติแล้วเภสัชกรที่จบปริญญาตรีจะบรรจุประเภทตำแหน่งงานวิชาการ ในระดับปฏิบัติการซึ่งคนที่จบหลักสูตร 5 ปี และ 6 ปีก็จะมีการบรรจุเงินเดือนที่แตกต่างกันไป แถมการบรรจุตามวุฒิ 5 หรือ 6 ปี นั้นก็จะมีช่วงเงินเดือนที่บรรจุให้ด้วย ซึ่งการพิจารณาปรับเงินเดือนจะมีปีละ 2 ครั้ง คือรอบ เมษายน และรอบตุลาคม ของทุกปี
และนี่ตัวละครสมมติที่จะอธิบายแนวทางการขึ้นเงินเดือน
เภสัชกรชายหน้าตาดี นามว่าปลาเก๋า สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยชื่อดังแห่งหนึ่งในประเทศไทย ด้วยเกียรตินิยมอันดับ 3 เหรียญทองแดง(ไม่ตกออกก็บุญแล้ว) ในหลักสูตร 5 ปี ซึ่งได้บรรจุข้าราชการ ดำรงตำแหน่งเภสัชกรปฏิบัติการภายใต้กระทรวงสาธารณสุขได้รับเงินเดือนแรกเริ่มบรรจุ 16,760 บาท ภายหลังจากทำงานด้วยความตั้งใจตรากตรำมานะบากบั่นจนผลงานเป็นที่ประจักษ์ แต่บังเอิญหัวหน้าหมั่นไส้เลยได้รับการประเมินเงินเดือนในระดับ “พอใช้” เงินเดือนขึ้น 2% ในรอบการนึงประเมิน จะขึ้น 359.60 บาท หรือ 360 บาท (เงินเดือนหรือดอกเบี้ยเงินฝาก 5555)
🤔🤔จากตรงนี้จะมีคำถามว่าทำไมขึ้น 2% แล้วขึ้น 360 บาท คิดจากอะไร??? คำตอบคือคิดจากฐานเงินเดือนครับ (ดูรูปประกอบ)
กรณีของ ภก.ปลาเก๋านั้นปัจจุบันปฏิบัติงานในตำแหน่ง “เภสัชกรปฏิบัติการ” ที่สังกัดกระทรวงสาธารณสุข อยู่ภายใต้ระเบียบการปรับเงินเดือนของ ก.พ. (หน่วยงานอื่นต้องไปดูว่าสังกัดอะไรและระเบียบการปรับเงินเดือนเป็นอย่างไร) ซึ่งขั้นเงินเดือนดูในคอลัมน์ช่วงเงินเดือนของปฏิบัติการ (กรอบสีแดง) จะเห็นว่า เงินเดือนของภก.ปลาเก๋านั้นจะอยู่ในช่วงเงินเดือน 7,140-20,950 บาท ซึ่งจะอยู่ในระดับ “ล่าง” ฐานเงินเดือนที่ใช้คำนวณคือ 17,980 บาท เมื่อคำนวณเงินเดือนที่ได้รับการปรับขึ้นมาแล้วนั้น จะคิดได้ว่า 17,980 * 2% = 359.60 หรือ 360 บาท
หากว่า ภก.ปลาเก๋าตั้งใจทำงานและทำงานผลงานจนกลายเลื่อนขั้นไปเป็นเภสัชกรชำนาญการแล้วล่ะก็ ณ เงินเดือนปัจจุบัน ที่เป็นเภสัชกรชำนาญการ ฐานเงินเดือนที่ใช้ในการคำนวณจะกลายเป็น24,410 บาทเลยทีเดียว และเมื่อคิดว่าได้2 % เงินเดือนก็จะขึ้น 488.2 บาท นั้นเอง
และในส่วนที่สองคือหน่วยงาน ในแต่ละปีหน่วยงานต่างๆจะได้รับการจัดสรรงบประมาณสำหรับการปรับขึ้นเงินเดือนของข้าราชการในสังกัดของตนเองนั้น จะมีทั้งคนที่ได้ขึ้น 3% บ้าง 4% บ้าง ซึ่งการปรับเงินเดือนนั้นก็จะมีคะแนนการประเมินเรียงลำดับจากดีสุดไประดับแย่ ดีเด่น (2 ขั้น), ดีมาก (ขั้นครึ่ง), ดี (1ขั้น), พอใช้ (ครึ่งขั้น), ต้องปรับปรุง ซึ่งในแต่ระดับการปรับเงินเดือนนั้น ก็จะมี% ภายในแตกต่างกันอีกทีหนึ่ง
💸💸💸ดังนั้นสรุปแล้ว การขึ้นเงินเดือนของข้าราชการก็จะมี 2 ส่วนที่เกี่ยวข้องคือ เงินเดือนแรกบรรจุของข้าราชการแต่ละคน รวมทั้งตำแหน่งที่ดำรงอยู่(ปฏิบัติการ ชำนาญการ ฯลฯ) และอีกส่วนคือเงินที่หน่วยงานได้รับจัดสรรมา แต่โดยปกติแล้วการประเมินเงินเดือนของข้าราชการหากว่าทำงานด้วยความตั้งใจแล้วนั้นส่วนมากมักจะอยู่ในระดับดีมากเสียส่วนใหญ่ เว้นแต่ลาเยอะ มาทำงานสาย กลับก่อน อันนี้ก็แล้วแต่ดุลยพินิจของหัวหน้าอีกทีหนึ่งครับ😙😙
สรุป
การขึ้นเงินเดือนของข้าราชการ ขึ้นกับ 2 ส่วน คือ
- ผลงานที่ได้ในรอบการประเมิน แบ่งเป็น ดีเด่น, ดีมาก, ดี, พอใช้, ต้องปรับปรุง
- งบประมาณของหน่วยงานนั้น
ดังนั้นแต่ละหน่วยงาน จะมีเกณฑ์ % การขึ้นของแต่ละระดับการประเมินไม่เหมือนกัน ยกตัวอย่างตัวเลขจริงๆของ 2 หน่วยงาน (ซึ่งหน่วยงาน B ปีนี้ได้รับการจัดสรรงบเยอะกว่าหน่วยงาน A) ดังตาราง
ผลการประเมิน | % ขึ้นเงินเดือนของหน่วยงาน A | % ขึ้นเงินเดือนของหน่วยงาน B |
---|---|---|
ดีเด่น | 3.0-3.5% | 4.0% |
ดีมาก | 2.6-2.9% | 3.5% |
ดี | 2.3-2.5 % | 3.0% |
พอใช้ | 2.0-2.2 % | 2.5% |
ต้องปรับปรุง | ไม่ได้ขึ้น | ไม่ได้ขึ้น |
ซึ่งข้าราชการโดยปกติแล้ว จะได้ประเมินกันที่”ดีมาก” เว้นแต่เด่นจริงๆถึงได้”ดีเด่น” (ส่วนมากคนที่ได้ดีเด่น มี 3 พวก คือ 1.หัวหน้างาน 2.โดดเด่นมากๆ 3.ลูกรัก) ส่วนที่แย่ๆหน่อย รวมถึงพวกหัวหน้าหมั่นไส้ ก็จะได้ดี ไม่ก็พอใช้
อย่างไรก็ดี ถ้าอยากคำนวณคร่าวๆก็ตีเป็นตัวเลขคร่าวๆไปเลยว่า 3% ต่อรอบก็ได้ เพราะโดยเฉลี่ยแล้วแต่ละหน่วยงาน ถ้าได้ดีมาก ก็จะอยู่ที่ราวๆ 3% แหละ บวกลบนิดหน่อยขึ้นกับงบที่ได้รับ
พอเรารู้ % แล้ว เราก็เอาไปคำนวณจากฐานในการคำนวณเงินเดือนดังรูปด้านบน ก็จะได้ตัวเลขที่ได้เงินขึ้นจริงๆ เช่น เราเงินเดือน 18,000 ในตำแหน่งวิชาการ ระดับปฏิบัติการ พอไปดูในตารางฐานที่เอามาคำนวณคือ 17,980 บาท ถ้าคิดคร่าวๆที่ 3.0% ก็จะได้ขึ้น 539.4 บาท ต่อรอบการประเมิน
แต่ทีนี้ ราชการไม่เหมือนเอกชน เอกชนประเมินผลงานกันแค่ปีละรอบ แต่ข้าราชการประเมินกันปีละ 2 รอบ ดังนั้นถ้าตีคร่าวๆก็คือ 3.0% 2 รอบ ปีนึงก็ได้เงินขึ้น 1078.8 บาท แบบนี้ เป็นต้น
👉👉ตอนหน้าแอดจะมาอธิบายเพิ่มเติมในส่วนเงินเดือนแรกเริ่มบรรจุของข้าราชการว่าทำไมบรรจุเป็นช่วงแล้วแต่ละช่วงนั้นคำนวณจากอะไร และเงินบำนาญยามเกษียณ ว่าจริงๆแล้วข้าราชการจะดีกว่าเอกชนจริงหรือไม่ แล้วทำไมหลายคนถึงคิดว่าข้าราชการเอาเปรียบเอกชนว่ามีเงินบำนาญกินใช้ยามเกษียณแบบสบายกว่า 👉👉ถ้าไม่ลืม 55555👈👈
Share this: