บทความนี้ พี่เขียนให้น้องๆ ม.4 ม.5 อ่านนะครับ เพื่อเป็นเทคนิคในการเรียนตอน ม.ปลาย พอถึง ม.6 แล้วจะได้ไม่เหนื่อยมาก น้องๆ ม.6 อ่านก็ได้ แต่ถ้าจะทำตามให้ได้ 100% ต้องพิจารณาด้วยว่าเหลือเวลาอีกเท่าไรก่อนสอบ หากเหลือเวลาไม่มาก อาจต้องใช้วิธีอื่นที่เกิดประสิทธิภาพภายในเวลาอันจำกัดมากกว่า
อ่านหนังสืออะไร ต้องอ่านตรงไหน ถึงจะสอบเภสัชติด?
คำถามนี้ ตอบยากนะครับ จริงๆไม่ว่าจะคณะไหนก็ตาม หากเรามีพื้นฐานที่ดี ไม่ว่าจะเข้าคณะไหน ก็ไม่ใช่เรื่องยาก คำถามนี้ หากจะให้ตอบจริงๆ คงตอบได้แค่ว่า ข้อสอบมหาวิทยาลัยนี้ ออกเรื่องไหนในบทเรียนบ้าง บทไหนที่ออกเยอะ ควรเน้นเรื่องไหน แล้วไป focus หนักๆตรงบทที่ออกบ่อยๆและออกเยอะๆเอา
จะสอบแล้ว ไม่รู้จะเริ่มจากตรงไหนดี?
ถ้าน้องอยู่ ม.6 แล้วเกิดคำถามนี้ ค่อนข้าง severe แล้วครับ จริงๆ มันไม่ได้สำคัญว่าจะต้องเริ่มจากตรงไหน แต่มันต้องเริ่มตอนนี้ เดี๋ยวนี้ ถ้าปีนี้ไม่ทัน ปีหน้าก็ยังมีโอกาสแก้ตัวครับ
สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ พื้นฐานครับ บทความนี้ พี่จะชี้แนะให้น้องเรียนให้เป็น จะได้มีพื้นฐานที่ดี พอขึ้น ม.6 แล้ว จะได้เหมือนแค่ทบทวน เพื่อให้สิ่งที่ลืมๆไปแล้ว มันกลับเข้ามาในหัว ดีกว่าอยู่ ม.6 ต้องมานั่งทำความเข้าใจใหม่ทั้งหมด
เรียนอย่างไรให้เก่ง
ภาษาไทย
ภาษาไทย เป็นวิชาที่ไม่ยาก ไม่ง่าย แต่คะแนนสอบวิชาภาษาไทย O-NET มักออกมาดีตลอดในทุกปี หลายๆครั้งคะแนนเฉลี่ยของประเทศคือ 50% ขึ้น หรือบางทีเกือบถึง 60% ก็มี เพราะมันเป็นอะไรที่อยู่กับเราทุกวัน เราพูด อ่าน ใช้ ทุกวัน ทำให้เรารู้สึกเหมือนง่าย แต่จริงๆ จากการจัดอันดับทั่วโลก ภาษาไทยเป็นภาษาที่มีความยากระดับปานกลางนะครับ (ภาษาอังกฤษง่ายสุด)
เนื้อหาภาษาไทย ม.ปลาย ไม่เยอะ ในบทเรียน เรามักจะวนเวียนกับพระอภัยมณี, สามก๊ก, ขุนช้าง ขุนแผน และเรื่องอื่นๆ แล้วเราก็ต้องฝึกอ่านร้อยแก้ว ร้อยกรอง ท่องอาขยาน ถอดความหมายบทกลอน ปิดท้ายด้วยการวิเคราะห์บทกลอน คุณค่าวรรณคดี ตีความเรื่องที่เรียนไป แต่ข้อสอบมันไม่เคยออกว่า จงเติมบทอาขยานในช่องว่างที่หายไป หรือแม่ของนางสีดาท้องทั้งหมดกี่เดือนก่อนคลอด ไม่ครับ ไม่เคยเลย เค้าไม่เคยให้เราท่องแบบนั้นเลย แต่เค้าจะให้เราวิเคราะห์ สังเคราะห์ ตีความ เพราะฉะนั้นที่เราท่องและอ่านกันไปทั้งหมดน่ะ มันเหมือนเป็นการฝึกให้เราเข้าถึงแก่นแท้ของภาษาเฉยๆ แต่เนื้อหาที่ต้องท่อง จริงๆ ไม่ได้เยอะเลย สำคัญว่าเราจะวิเคราะห์ สังเคราะห์ ได้หรือเปล่า
แต่ยังไง ส่วนที่ต้องท่อง ต้องจำ ยังไงก็ต้องท่องนะครับ พวกพยัญชนะเสียงสูง กลาง ต่ำ, หลักการดูคำเป็น คำตาย, สัมผัสในบทกลอน และอื่นๆ พวกนี้ยังไงมันก็ต้องท่องแหละ
ที่พี่ว่ายากจริงๆคือ พวกการวิจารณ์ พิจารณาคุณค่า แนวคิด ของภาษา รวมถึงพิจารณาพวกรูปประโยคต่างๆ ซึ่งพวกนี้ ให้เราวิเคราะห์อย่างตรงไปตรงมาตามหลักภาษา ใครที่ฝึกหัด คิดบ่อยๆ อ่านบ่อยๆ เขียนบ่อยๆ มันจะมี sense ของนักภาษา ทำให้เราตีความ และเข้าใจพวกนี้ได้ง่ายและรวดเร็ว แต่ปัญหาคือภาษาไทย ไม่ใช่ภาษาที่สมบูรณ์แบบในตัวของมันเอง ไม่เหมือนภาษาอังกฤษหรือฝรั่งเศสที่ประโยคเค้าสมบูรณ์ มีทั้งเพศ พจน์ และกาล ครบในประโยคเดียว ทำให้ภาษาไทยมันดิ้นได้ แต่ถ้าใครเก่งภาษาอังกฤษ แล้วใช้ศาสตร์การวิเคราะห์ประโยคของภาษาอังกฤษมาวิเคราะห์ประโยคภาษาไทย จะช่วยได้มาก
สรุป ภาษาไทย ม.ปลาย เป็นวิชาที่เนื้อหาไม่เยอะ ส่วนที่ต้องท่อง ต้องจำ ก็ต้องจำให้ได้ สำคัญคือวิเคราะห์และตีความให้เป็น ซึ่งการที่เราจะฝึกให้เชี่ยวชาญได้นั้น สำคัญเลยคือต้องฝึกบ่อยๆ และต้องทำโจทย์ครับ ทำบ่อยๆจนเราจับทางได้ว่า เค้าจะหลอกหรือเล่นเราในประเด็นไหน
สังคม
สังคมเป็นวิชาที่ไม่ยากครับ แต่ความยากของมันคือเนื้อหาเยอะมาก เยอะที่สุดแล้วในทุกวิชา (คิดดูครับว่า หากวิชาสังคมหากเป็นคณะในมหาวิทยาลัย มันจะประกอบไปด้วยคณะรัฐศาสตร์ คณะบริหาร คณะเศรษฐศาสตร์ คณะนิติศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์) ที่พี่บอกไปในวิชาภาษาไทยว่า เค้าไม่ถามหรอกว่า แม่นางสีดาท้องกี่เดือน แต่ถ้าเป็นวิชาสังคม รายละเอียดเล็กน้อยพวกนี้เค้าถามได้หมด เราจะสังเกตุเห็นว่า คนที่ได้สังคมเกิน 80 คะแนน มีน้อยมาก ผิดกับคณิตศาสตร์ที่แม้คะแนนเฉลี่ยของประเทศจะต่ำที่สุด แต่ก็มีคนได้เต็ม 100 ทุกปี ด้วยความที่เนื้อหามันเยอะเนี่ยแหละครับ เพราะฉะนั้นอยากเก่งสังคมต้องขยันครับ อ่านเยอะๆ ติดตามข่าวสารบ่อยๆ จนมุมมองเรากว้างขวาง เห็นภาพรวมและความสัมพันธ์ของสังคมในทุกมิติ คราวนี้ไม่ว่าจะเป็นข้อสอบสังคมแบบท่อง หรือแบบวิเคราะห์ เราก็สามารถทำได้หมดครับ
สำหรับพี่ เนื้อหาสังคมที่ทำคะแนนได้ชัวร์ที่สุดคือเศรษฐศาสตร์ เพราะมันเป็นอะไรที่ตายตัวและตรงไปตรงมาที่สุดแล้ว
คณิตศาสตร์
คณิตศาสตร์มันยากเพราะอะไรรู้ไหมครับ?
เพราะมันจับต้องได้ยาก มันเหมือนอยู่ในโลกแห่งจินตนาการมากกว่าความเป็นจริง คิดอยู่บนความเพ้อฝัน และไม่น่าจะเอาไปใช้ได้จริง แต่ จริงๆแล้ว เราสามารถประยุกต์ใช้คณิตศาสตร์ได้กับทุกสิ่ง โดยเฉพาะเซตกับตรรกศาสตร์
การเรียนเภสัชในบางวิชาได้ใช้เรื่องสถิติกับ calculus นะครับ
คนที่เก่งคณิตศาสตร์มักมี logic ที่ตรงไปตรงมา ความคิดเป็นระเบียบแบบแผน ส่งผลให้คนนั้น มักเป็นคนฉลาด
คณิตศาสตร์เป็นวิชาทักษะ เหมือนปั่นจักรยาน หรือว่ายน้ำ แรกๆมันก็ยาก แต่พอเราฝึกจนได้ logic ของคณิตศาสตร์มาแล้ว มันจะเป็นเรื่องง่ายทันที การจะมาท่องเนื้อหาคณิตศาสตร์และคาดหวังจะให้ทำข้อสอบได้ เป็นอะไรที่เป็นไปไม่ได้ครับ
ทักษะคือการฝึกฝนและสั่งสม น้องจะเห็นว่าในบทเรียนวิชานี้ จะมีแบบฝึกหัดให้น้องเต็มไปหมด เพราะวิชานี้ต้องฝึกจริงๆครับ จะมาหวังท่องนิยาม แล้วจะทำให้ทำโจทย์ยากๆเลย มันเป็นไปไม่ได้ คณิตศาสตร์ต้องฝึก ทำโจทย์บ่อยๆ คิดเยอะๆ มันเป็นอะไรที่เสียเวลามากในตอนแรกๆ แต่ถ้าทำได้แล้ว มันจะติดตัวน้องไปตลอด จะเห็นได้ว่าวิชานี้มีคนได้เต็มทุกปี (ถ้าโจทย์ไม่ผิด) เพราะมันตรงไปตรงมามากๆครับ แต่ถ้าน้องจะมาเร่งยัดเอาก่อนสอบ เป็นอะไรที่เสียเวลาและมักไม่เห็นผลครับ
ฟิสิกส์
ฟิสิกส์ จริงๆเป็นเรื่องยากนะครับ แต่ในเนื้อหา ม.ปลาย ที่เป็นแค่ฟิสิกส์ 2 มิติ และเนื้อหาก็อยู่ในเงื่อนไขของอุดมคติเป็นส่วนใหญ่ วิชาฟิสิกส์ของ ม.ปลาย จึงเป็นเรื่องง่าย และมีเนื้อหาน้อยมาก
ฟิสิกส์ ม.ปลาย เนื้อหาน้อยมากจริงๆนะครับ มหาวิทยาลัยเรียนเทอมเดียวก็จบ ในแต่บทของฟิสิกส์ มันจะมีหัวใจสำคัญของมันอยู่ อย่างกฏนิวตัน F=ma เนี่ย จำแค่นี้ ทำได้ทุกข้อ สำคัญว่า เอาไปใช้เป็นหรือเปล่า ซึ่งคงไม่มีโจทย์ข้อไหนติ๊งต๊องขนาดบอก m มา บอก a แล้วให้หา F แบบนี้หรอก
ซึ่งการที่เราจะเอาไปใช้ได้เก่งๆ ต้องทำโจทย์ครับ ฟิสิกส์ทฤษฎีจำแค่หัวใจสำคัญ ที่เหลือ ลุยโจทย์จนกว่าจะชำนาญครับ
เคมี
เป็นวิชาที่ใช้ความจำ + ความเข้าใจ ส่วนไหนที่ต้องท่องก็ต้องท่อง ส่วนไหนที่ต้องเข้าใจ ก็ต้องเข้าใจ เคมีมันจะมีความละเอียดและจุกจิกในตัวเอง ความยากของเคมีคือ มันต้องจินตนาการประกอบ ทั้งชีวิตเราไม่เคยเห็นอะตอม แต่เราต้องรู้ว่าอะตอมมันมีอะไร อยู่ตรงไหน แล้วการที่มันเป็นแบบนี้ทำให้มันมีคุณสมบัติอะไร คนไหนที่เก่งๆ เค้าจะมี sense ของนักเคมี เห็นสูตรโครงสร้างปุ๊บ บอกได้หมดเลยว่าสารตัวนี้มีคุณสมบัติแบบไหน เกิดปฏิกิริยาแบบไหนได้บ้าง
น้องๆ หลายคนไม่เก่งปริมาณสารสัมพันธ์ ซึ่งจริงๆเรื่องนี้ไม่ยากเลย มันคือการเปลี่ยนหน่วยธรรมดา เหมือนเปลี่ยนจากกิโลเมตร เป็นเมตร เท่านั้นเอง ซึ่งการที่เราจะเปลี่ยนหน่วยได้คล่องๆ เราก็ต้องฝึกทำโจทย์บ่อยๆ
เรื่องไฟฟ้าเคมี จริงๆมันง่าย แต่น้องๆ หลายๆคนไม่เข้าใจสักที คือมันไม่มีอะไร มันแค่ขัดกับความรู้สึกเรา แคโทดคือฝั่งรับอิเล็กตรอน (พอมันรับมันเลยเป็นลบ) ส่วนแอโนดคือด้านจ่ายอิเล็กตรอน (พอมันเสียอิเล็กตรอนก็เลยเป็นบวก) แต่น้องๆจะพยายามจำเป็นอันนี้ต้องเป็นบวก อันนี้ต้องเป็นลบ ซึ่ง anode cathode ไม่มีขั้วบวก ขั้วลบนะครับ มีแต่ oxidation กับ reduction พอจำเป็นขั้ว เดี๋ยวไปสับสนกับ cation (ประจุบวก) anion (ประจุลบ) งงกันไปใหญ่เลยทีนี้
ชีววิทยา
ชีววิทยา เป็นวิชาที่เน้นท่องจำ จริงๆเนื้อหาชีวะ ม.ปลาย ไม่ได้เยอะมาก แต่มันจำยากเพราะน้องยังไม่ชินกับพวกชื่อแปลกๆ เฉยๆ
วิชานี้ต้องขยันครับ ขยันอย่างเดียวเท่านั้น
อังกฤษ
อังกฤษเป็นวิชาทักษะ คือมันเป็นอะไรที่น้องต้องค่อยๆสั่งสมและซึมซับ หัดพูดทุกวัน อ่านทุกวัน เขียนทุกวัน มันจะค่อยๆซึมซับไปเรื่อยๆ คนไหนเก่งอังกฤษ บางทีก่อนสอบเค้าแทบไม่อ่านเลย เค้าก็ทำคะแนนได้ดี เพราะมันเป็นวิชาทักษะ เหมือนว่ายน้ำ คนที่ว่ายน้ำเป็นแล้ว ต่อให้เค้าไม่ได้ซ้อมว่ายน้ำ แต่วันดีคือดีเค้าเกิดตกน้ำ ยังไงเค้าก็ว่ายน้ำได้อยู่ดี
ข้อสอบภาษาอังกฤษ จะวัดที่ทักษะของน้องนั่นแหละ คือ conversation (วัดทักษะการพูด) reading (วัดทักษะการอ่าน) error (วัดทักษะการเขียน) อาจมี vocab หรืออื่นๆปนมาบ้าง แต่ข้อสอบภาษาอังกฤษมักมีการวัดทักษะใน 3 ส่วนนี้เสมอ
ใครพยายามมาเร่งอ่านก่อนวิชานี้สอบ ก็จะพบว่ามันเยอะมาก พยายามท่องแกรมม่า และคำศัพท์ให้เยอะที่สุด แต่สุดท้ายมักพบว่ามันช่วยเพิ่มคะแนนได้ไม่คุ้มค่าเหนื่อยเลย อย่างที่บอกไปครับว่า ภาษาอังกฤษค่อยๆสะสมมาทีละนิดจะดีที่สุด
สูตรสำเร็จ?
พี่ถือคตินี้ครับ ก่อนเรียนอ่านไปก่อน ตอนเรียนตั้งใจเรียน เรียนเสร็จทบทวนบทเรียน ใครทำได้ “เทพ” แน่นอน แต่เอาจริงๆ แค่ตอนเรียนตั้งใจเรียน กลับมาอ่านทบทวน ก็เป็นอะไรที่หนักหนาพอสมควรแล้ว น้องลองนึกดูว่า ชีวิต 3 ปี ตอน ม.ปลาย น้องต้องทำอะไรบ้าง
- เรียนประมาณ 10 วิชา
- เรียนพิเศษ (กับวันหยุดที่หายไป)
- เล่นดนตรี
- เล่นกีฬา
- เล่นเกมส์
- มีความรัก
- ร.ด.
- สีฬาสี และกิจกรรมอื่นๆอีกมากมาย
- ใช้ชีวิตวัยรุ่นให้คุ้ม
- บางคนเรียนราม Pre-degree ด้วย
แล้วน้องคิดว่า ถ้าน้องทำทั้งหมด เวลาที่น้องทบทวนบทเรียนเอง จะเหลือวันละกี่ชั่วโมง
เรื่องเวลาเป็นเรื่องที่น้องต้องบริหารนะครับ
ตอน ม.4 พี่มีเวลาวันละ 2 ชั่วโมง ทุกวัน เพื่อพัฒนาตัวเอง พี่ใช้คำว่าพัฒนาตัวเองนะครับ เพราะบางที พี่ก็ไม่ได้ทบทวนบทเรียน แต่พี่ต้องเก่งขึ้นในทุกๆวัน พี่รู้แค่นี้แหละ (ซึ่งยากมากนะครับ เดี๋ยวพี่จะบอกว่าทำไมคนส่วนใหญ่ถึงทำไม่ได้ ในบทความถัดๆไป) พอขึ้น ม.5 ปรากฏว่าพี่ติดสาวครับ ติดจริงจัง ไม่เป็นอันเรียนเลย วันๆหมดไปกับการโทรศัพท์และคุยกันผ่าน msn พอปิดเทอม ม.5 (ขึ้น ม.6) พี่ตั้งใจมาก พี่เคยเรียนพิเศษตั้งแต่ 7.00 โมงถึง 2 ทุ่มครึ่งกลับมาอ่านหนังสือต่อถึงตี 1 ติดต่อกันเกือบเดือนด้วย พอเปิดเทอม ม.6 คราวนี้ ติดเกมส์ครับ ตอนนั้น dota กำลังมาแรงมาก แมพแรกที่พี่เล่นคือแมพ 6.27 อ่ะ ขนาดวันสอบเข้า มข. สอบเสร็จปุ๊บ โทรศัพท์ชวนไปร้านเกมส์ดังปั๊บเลย แต่บุญที่พี่สั่งสมมาก็มากพอจะช่วยให้พี่ตอบติดเภสัช มข. กับ แพทย์ PI ในปีนั้นได้ครับ
วินัยกับความต่อเนื่องสำคัญที่สุดครับ อยากให้น้องอ่านเรื่องนี้เป็นเครื่องเตือนใจครับ กฏ 20 ไมล์
จริงๆ ถ้าสนใจเรื่องพัฒนาตัวเอง มีหนังสือเทคนิค how-to เกี่ยวกับพัฒนาตัวเองเรื่องเรียนอีกเยอะครับ ซึ่งแต่ละเล่มก็พูดถึง-เทคนิควิธีการที่แตกต่างกันออกไป ตัวอย่างเช่น
- เทคนิคช่วยลูกเรียนเก่งด้วย Mind Map
- สูตรลับเรียนเก่งขั้นเทพ
- แค่อ่านหนังสือถูกวิธีก็เป็นคนหัวดีได้
- จงถ่ายเอกสารหน้าสารบัญ แล้วคุณจะเรียนเก่งขึ้น
- ใครๆ ก็เรียนเก่งได้ใน 21 วัน
Share this: