หนึ่งในบุคคลระดับ Idol ของวงการเภสัชกรรมที่พี่คงไม่กล่าวถึงไม่ได้ ท่านมีส่วนอย่างมากที่ทำให้พี่ตัดสินใจเรียนในคณะเภสัชศาสตร์ และท่านยังเป็นรุ่นพี่ในสายงาน Pharm science ที่ประสบความสำเร็จอย่างมากอีกด้วย
ก่อนจะพูดประวัติของอาจารย์ พี่อยากให้น้องดูคลิปวีดีโอ ที่ทำให้พี่ได้รู้จักอาจารย์ และส่งผลให้ในปีนั้น พี่ตัดสินใจเลือกคณะเภสัชศาสตร์เป็นทางเดินชีวิตของพี่
พี่หาคลิปในยูทูปไม่เจอแล้ว ไม่แน่ใจว่าโดนลบไปหรือยัง แต่ว่ามีคลิปอยู่ในบล็อกนี้ครับ
http://www.bloggang.com/mainblog.php?id=plin&month=19-03-2008&group=3&gblog=73
ประวัติ
เมื่อสักประมาณ 9 ปีที่แล้ว ไทยมีปัญหากับอเมริกาเรื่องสิทธิบัตรยาในการบังคับใช้สิทธิเหนือสิทธิบัตรยา เพื่อให้ผู้ป่วยสามารถเข้าถึงยาในราคาถูกได้ หนึ่งในบุคคลผู้ปิดทองหลังพระในเหตุการณ์ครั้งนั้นคือ ศ.ภญ.ดร.กฤษณา ไกรสินธุ์ เภสัชกรยิปซีไทย ผู้ผลิตยาต้านไวรัสเอดส์ที่เร่ร่อนไปทั่วเเอฟริกา ถึงขนาดอเมริกายังนำประวัติชีวิตของท่านไปสร้างเป็นละครบรอดเวย์ชื่อ Cocktail
ศ.ภญ.ดร.กฤษณา ไกรสินธุ์ เกิดเมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2495 เป็นคนเกาะสมุย อาจารย์เกิดในครอบครัวที่ค่อนข้างมีฐานะ คุณพ่อของอาจารย์เป็นคุณหมอ ส่วนคุณแม่เป็นพยาบาล ส่วนญาติๆทำธุรกิจโรงแรมที่เกาะสมุย ตอนเด็กอาจารย์ชอบเล่นดนตรี เคยฝันอยากเป็น Conductor
อาจารย์จบชั้นมัธยมศึกษาจากโรงเรียนราชินี จากนั้นศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษาที่ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ หลังจากนั้นอาจารย์ได้เข้าศึกษาในระดับปริญญาโท สาขาเภสัชวิเคราะห์ มหาวิทยาลัยสตรัชคไลด์ (Strahclyde) และปริญญาเอก สาขาเภสัชเคมี มหาวิทยาลัยบาธ (Bath) ประเทศอังกฤษ อาจารย์เคยอยากเปลี่ยนสายไปเรียนด้าน ชีวเคมี แต่เห็นว่า คณะที่เรียนอยู่ ในเมืองไทย ตอนนั้นมีคนเรียนแค่ 5 คน จึงตัดสินใจก้มหน้าก้มตาเรียนต่อไป
หลังอาจารย์เรียนจบที่อังกฤษ มีบริษัทยา รวมถึงเพื่อนๆที่ทำงานในบริษัทยาที่อังกฤษหลายแห่ง ติดต่อให้อาจารย์ไปทำงานด้วย แต่อาจารย์อยากทำงานที่บ้านเกิดจึงกลับไปเป็นอาจารย์ประจำภาควิชาเภสัชเคมี คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ซึ่งในตอนนั้นศาสตร์ด้านเภสัชเคมียังไม่เป็นที่สนใจสำหรับประชาชนเท่าไรนัก อาจารย์ดำรงตำแหน่งหัวหน้าภาควิชาเภสัชเคมี ในปี พ.ศ. 2524 อย่างไรก็ตาม อาจารย์เห็นว่าหากทำงานด้านวิจัยยา จะสามารถช่วยผู้คนได้มากกว่านี้ อาจารย์จึงตัดสินใจลาออกจากการเป็นอาจารย์ แล้วสมัครเข้ามาทำงานที่องค์การเภสัชกรรม
อาจารย์เป็นผู้บุกเบิกแผนกวิจัยและพัฒนาขององค์การเภสัชกรรม (สมัยนั้นแผนกนี้มีแต่ชื่อกับป้าย ไม่มีใครมาทำงานอย่างจริงจัง) ในตอนแรกนั้นทั้งแผนกมีอาจารย์ทำอยู่คนเดียว
ปี พ.ศ. 2535 จำนวนผู้ป่วยโรคเอดส์ในไทยเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้อาจารย์สนใจศึกษาวิจัยยาต้านไวรัสเอดส์ ในช่วงแรกๆอาจารย์ทำคนเดียว เพราะสารเคมีที่ใช้ในการศึกษาและวิจัยสามารถก่อให้เกิดมะเร็งได้ จึงไม่มีใครเอาด้วย
หลังจากความพยายาม 3 ปี ในปี พ.ศ. 2538 อาจารย์ก็ประสบความสำเร็จในผลิตยาสามัญที่เป็นยาต้านไวรัสเอดส์ได้เป็นครั้งแรกของโลก โดยยาตัวนั้นคือ “ZIDOVUDINE” (AZT) หลังจากนั้นอาจารย์ได้วิจัยต่อยอดยาอีกหลายชนิด แต่ที่ประสบความสำเร็จและดังมากที่สุดคือ “GPO-VIR” ซึ่งเป็นการรวมตัวยารักษาโรคเอดส์ 3 ชนิดในเม็ดเดียวเป็นครั้งแรกของโลก
เพิ่มเติม คือคนเป็นโรคเอดส์ เค้าต้องกินยาเยอะมาก แล้วต้องกินตรงเวลา อย่างเช่น กินทุก 12 ชั่วโมง คือ 12 ชั่วโมงเป๊ะๆ ไม่ได้มีกินก่อนอาหาร หลังอาหารแบบยาทั่วไป ทำให้ผู้ป่วยมีค่าใช้จ่ายในการรักษาสูงมาก อีกทั้งยังมีปัญหาลืมกินยา กินยาไม่ครบอยู่บ่อยๆ ทำให้เชื้อดื้อยาและต้องขยับไปใช้ยาที่ราคาแพงขึ้นอยู่เรื่อยๆ ถ้าหากเราสามารถรวมยาเอดส์หลายๆตัวไว้ในเม็ดเดียวได้ ปัญหานี้ก็จะหมดไป แต่ความยากอยู่ ทำอย่างไร ให้ยาเอดส์ทั้ง 3 ตัว อยู่ด้วยกันได้ โดยไม่มีปัญหาเรื่องความไม่เข้ากันของยา และยังคงประสิทธิภาพและประสิทธิผลไม่ต่างจากการทานยาทั้ง 3 ชนิด แยกกัน
จากผลงานครั้งนี้ของอาจารย์ ทำให้ยาเอดส์ราคาลดลงอย่างมาก จากแคปซูลละ 40 บาท เหลือ 7-8 บาท ส่วนอีกตัวจากเดิม ขาย แคปซูลละ 284 บาท เหลือ 8 บาท ลดการทานยาของผู้ป่วย จากวันละ 6 เม็ด เหลือวันละ 2 เม็ด ช่วยให้รัฐบาลไทยสามารถช่วยเหลือผู้ป่วยโรคเอดส์ จาก 1,000 คน เพิ่มเป็น 10,000 คน และลดค่ายา จากคนละ 20,000 เหลือ 1,200 บาท
แม้ผลงานครั้งนี้ของอาจารย์จะช่วยชีวิตคนไว้เป็นจำนวนมาก แต่ก็ไม่ใช่ทุกคนที่ได้ประโยชน์ อาจารย์ทำให้ยอดขายของบริษัทยาหลายแห่งตกลงอย่างรวดเร็ว อาจารย์ถูกบริษัทยา (รวมทั้งบริษัทที่เคยชวนอาจารย์ไปทำงานด้วยนั่นแหละ) ฟ้องร้อง ข่มขู่ ขึ้นศาล อาจารย์ติด Blacklist ของบริษัทยาเกือบทุกบริษัท แต่อาจารย์ถือว่าสิ่งที่ตนทำนั้นเป็นการช่วยชีวิตคน “คนจะตายนั้น รอไม่ได้ อย่างไรก็ต้องช่วย” อาจารย์ถูกกดดันทั้งจากภายในและภายนอกประเทศ ไม่เว้นแม้แต่ภายในองค์การเภสัชกรรมเอง แต่อาจารย์ก็ได้รับความช่วยเหลือจากองค์กรสิทธิมนุษย์ในต่างประเทศ
ปี พ.ศ.2542 องค์การอนามัยโลกเชิญกฤษณาไปที่ทวีปแอฟริกาเพื่อช่วยเหลือด้านเภสัชกรรม ประเทศไทยประกาศในที่ประชุมขององค์การอนามัยโลกว่าจะไปช่วยแอฟริกาผลิตยาต้านไวรัสเอดส์ ทุกคนปรบมือเสียงดังกึกก้องทั้งห้องประชุม แต่หลังจากนั้นโครงการนี้ก็เงียบหายไป กลายเป็นเพียงลมปากของนักการเมืองไทยที่ไปสร้างวาทกรรมบนเวทีโลกเพื่อชื่อเสียงเท่านั้น ไม่ได้คิดจะไปช่วยอย่างจริงจัง
ปี พ.ศ. 2545 อาจารย์เห็นว่า ทางการไทยคงไม่ไปช่วยแอฟริกาแน่ๆแล้ว แต่ทางแอฟริกาก็ยังทวงถามมาทุกวันว่าเมื่อไหร่จะไปช่วยเค้า อาจารย์ทนไม่ไหว อายแทนประเทศไทย ประกอบกับเห็นว่าประเทศไทยช่วยเหลือตัวเองได้แล้ว จึงตัดสินใจลาออกจากตำแหน่งผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนา เพื่อจะไปช่วยเหลือทางแอฟริกาใต้อย่างเต็มตัว อย่างไรก็ตาม อาจารย์ก็ไม่ได้ลาออกง่ายๆ มีการยื่นมีข้อเสนอปรับตำแหน่งให้สูงขึ้นและได้รับคำแนะนำให้นำยาที่เราผลิตไปขายให้แอฟริกาแทน แต่อาจารย์เห็นว่า “ถ้าเขาอยากกินปลา เราก็ควรสอนเขาตกปลาเอง ไมใช่ว่าเอาปลาไปให้เขากิน” ไม่อย่างนั้นเค้าก็จะพึ่งตัวเองไม่ได้สักที และยืนยันที่จะลาออก จนสามารถลาออกสำเร็จได้ในที่สุด
หลังจากลาออกจากองค์การเภสัชกรรมแล้ว อาจารย์เดินทางไปคองโกเพียงลำพัง เพื่อตั้งโรงงานเภสัชกรรมแห่งแรกที่นั่น เรียกได้ว่าต้องบุกเบิกใหม่หมดตั้งแต่วาดแปลนโรงงาน (เพราะไม่มีอะไรเลยจริงๆ) อาจารย์ใช้เวลา 3 ปี ในการก่อตั้งโรงงานจนถึงการถ่ายเทคโนโลยีการผลิต จนสามารถผลิตยาต้านไวรัสเอดส์ ชื่อ AFRIVIR ได้สำเร็จ
หลังจากช่วยคองโกสำเร็จแล้ว อาจารย์เดินทางไปช่วยเหลือด้านเภสัชกรรมที่ประเทศแทนซาเนีย จนสามารถวิจัยและผลิตยารักษาโรคมาลาเรียชื่อ “Thai-Tanzunate” ได้สำเร็จ และในเวลาต่อมา ยานี้ได้กลายเป็นยาที่ขายดีที่สุดในประเทศ
อาจารย์เดินทางไปช่วยเหลืออีกหลายประเทศ ได้แก่ อิริคเทอร์เรีย ประเทศเบนิน ประเทศไลบีเรีย มาลี และอื่นๆ
ชีวิตที่แอฟริกานั้นลำบาก โลดโผน และไม่มีความแน่นอน ประเทศด้อยพัฒนาในแอฟริกายากจนมาก เตียงคนไข้ 1 เตียง มีคนไข้ 3 คน (นอนบนเตียงเดียวกัน 2 คน โดยนอนแบบกลับหัวกลับหางกัน และนอนใต้เตียงอีก 1 คน)
บางครั้งเครื่องบินดีเลย์ ไป 24 ชม. ไม่ก็พาไปลงผิดประเทศ
เสื้อผ้า ต้องมีเผื่อไว้ในกระเป๋าสะพายอย่างน้อย 3 ชุด เพราะกระเป๋าเดินทางที่โหลดไว้ใต้ท้องเครื่องอาจมาช้า ไม่ก็หายไปเลย
บางครั้ง นอนๆอยู่ ก็มีระเบิดมาลงข้างๆบ้าน (ความจริงเค้าเล็งบ้านอาจารย์แต่มันพลาดเป้า เพราะคิดว่าอาจารย์เป็นฝ่ายเดียวกับศัตรู)
ตอนไปไนจีเรียโดนจี้ถึง 5 ครั้ง ในคืนเดียว แต่รอดมาได้ทุกครั้งและทรัพย์สินยังอยู่ครบ ด้วยเหตุผล ” ฉันมาช่วยคนในประเทศเธอน่ะ อยากได้อะไรก็เอาไปเลย” เลยไม่มีคนจี้ต่อ แต่เสียเวลาไป 4 ชั่วโมง กับการเดินทาง 20 กม. เพราะมัวแต่โดนจี้ ไป 5 ครั้ง
ตอนอยู่ที่แอฟริกา เรื่องค่าใช้จ่ายและที่อยู่ บางครั้งก็มีคนจัดการให้ บางครั้งก็ต้องหาเองออกค่าใช้จ่ายเอง เพราะประเทศเค้ายากจน ไม่ค่อยมีเงินออกให้หรอก
ปัจจุบันอาจารย์ยังคงทำงานช่วยเหลือด้านเภสัชกรรมแก่ประเทศในแอฟริกา และดำรงตำแหน่งคณบดีของคณะการแพทย์แผนตะวันออก มหาวิทยาลัยรังสิต รวมทั้งเป็นที่ปรึกษาองค์กรช่วยเหลือด้านยาของเยอรมนี
รางวัลและเกียรติยศ
เรื่องราวของอาจารย์เป็นที่รู้จักในยุโรปและอเมริกา และถูกสร้างเป็นภาพยนต์เรื่อง A Right to Live-AIDS medication for Millions (2006) ซึ่งได้รับรางวัลเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเมืองคานส์กว่า 3 รางวัล และถูกนำไปสร้างเป็นละครบรอดเวย์สหรัฐอเมริกาชื่อ Cocktail
รางวัลนักวิทยาศาสตร์โลก (Global Scientist Award) ประจำปี พ.ศ. 2547 จาก Letten Foundation ประเทศนอร์เวย์
เป็นผู้หญิงคนแรกที่ได้รับปริญญาเอกกิตติมศักดิ์ สาขาวิทยาศาสตร์ จาก Mauny Holly Oke College, USA
รางวัลบุคคลแห่งปีของเอเชีย จากนิตยสารรีดเดอร์ ไดเจส ประจำปี พ.ศ. 2551
รางวัลบุคคลดีเด่นของชาติ สาขาพัฒนาสังคม โดยคณะกรรมการเอกลักษณ์ของชาติ สำนักนายกรัฐมนตรี
รางวัลแมกไซไซสาขาบริการสาธารณะประจำปี พ.ศ. 2552
ได้รับเภสัชศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์จากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่และมหาวิทยาลัยสตราห์ไคลด์
ได้รับรางวัลศิษย์เก่าดีเด่นของโรงเรียนราชินีประจำปีและนักศึกษาเก่าดีเด่นมหาวิทยาลัยเชียงใหม่
เมื่อปีที่แล้วช่อง Thai PBS ได้นำเรื่องราวของอาจารย์ มาสร้างเป็นหนังสั้นในซี่รี่ คน…บันดาลใจ : แสงปลายฟ้า
คน…บันดาลใจ : แสงปลายฟ้า ตอนที่ 1
คน…บันดาลใจ : แสงปลายฟ้า ตอนที่ 2
ถ้าสนใจอ่านเรื่องราวของอาจารย์เพิ่มเติม ลองอ่านจากหนังสือ Shining Black Star : เภสัชกรยิปซี หรือ เภสัชกรยิปซี – The Journey of a Golden Heart
Share this: