มีน้องหลายคนสงสัยว่า หนูอยากทำครีม เภสัชก็ทำครีมได้ วิทยาศาสตร์เครื่องสำอางก็ทำครีมได้ แล้วมันต่างกันยังไง?
พี่เองตอบในฐานะ ที่เรียนเภสัช แล้วก็เคยทำธุรกิจเครื่องสำอางแล้วกันนะครับ
เภสัช กับ เครื่องสำอาง แยกกันตอนไหน
ย้อนอดีตไปสมัยก่อน เครื่องสำอางยังไม่ได้เป็นสินค้าที่ฮอตฮิตแพร่หลายแต่อย่างใด และก็ยังไม่มีคณะวิทยาศาสตร์เครื่องสำอางบนโลกในนี้ ปัญหาของโลกตอนนั้นไม่ใช่ความไม่สวย แต่เป็นความหิวโหย และโรคร้าย
เภสัช ก็มุ่งที่คิดค้นยารักษา แรกๆเราก็หายามาต้มกิน เอาสมุนไพรมาทากันตรงๆ ต่อมาเมื่อเทคโนโลยีพัฒนาขึ้น เราก็เรียนรู้ที่จะสกัดเอาแต่สารสำคัญมาใช้ พอเราได้สารสำคัญมา เราก็พัฒนาระบบนำส่งยา เพื่อให้ส่งยาไปให้ได้ตรงจุด ส่งให้ได้ปริมาณที่ต้องการ และหนึ่งในเทคโนโลยีนำส่งยาเข้าผิวหนังที่ยังใช้กันอยู่จนถึงปัจจุบันก็คือ “ครีม”
ต่อมาเมื่อเทคโลยีพัฒนาขึ้น ปัญหาใหญ่ๆอย่างเรื่องหิวโหย การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ ความเจ็บป่วยต่างๆก็ลดน้อยลง คนก็เริ่มมีเวลามาสนใจกับสุขภาพและความสวยความงามมากขึ้น เทคโนโลยีที่ถูกคิดเอาไว้ก็ถูกนำมาดัดแปลงเพื่อตอบสนองความต้องการใหม่เหล่านั้นของมนุษย์ หนึ่งในเทคโนโลยีของทางเภสัชกรรม ที่ถูกนำมาใช้เพื่อตอบสนองความต้องการเรื่องความสวยความงามก็คือครีม
แต่ระบบความคิด ก็คือรื้อกันใหม่ เราต่างก็โฟกัสกันคนละจุด
ก่อนหน้านี้เราเอาครีม ไปเพื่อรักษา ดังนั้น เราก็สนใจว่า ไอครีมนี้ ทาแล้วมันหาย ทาแล้วตัวยาถูกส่งไปบริเวณที่ต้องการด้วยปริมาณที่ต้องการ ทาแล้วไม่มีผลที่ไม่พึงประสงค์ เช่น ยาที่แล้วแสบๆ ถ้าต้องไปทาตรงผิวบอบบาง จะทำครีมยังไงให้มันไม่แสบ
แต่ในมุมของเครื่องสำอาง เค้าไม่ได้สนใจเรื่องการรักษา เค้าสนใจเรื่องทาแล้วสวย ดังนั้นเค้าเลยไม่ได้โฟกัสว่าทาแล้วหาย แต่เค้าโฟกัสว่าทาแล้วขาว ทาแล้วผิวใส ทาแล้วหน้าเด็ก ส่วนประกอบมันก็เปลี่ยนไป
ต่อมาทาแล้วผิวขาว ทาแล้วหน้าใสแล้ว คนก็มาสนใจต่ออีกว่า ชั้นทาหลายตัว ทาแล้วซึมเร็วไหม ไม่งั้นเสียเวลาตอนเช้าไปทำงานไม่ทัน ทาแล้วผิวแห้งไหม เหนียวเหนอะหนะไหม เนื้อครีมเป็นยังไง texture เป็นยังไง สีอะไร เฉดไหน กลิ่นอะไร ถูกใจไหม อีกอย่างยา เราไม่ได้ทากันทุกวัน แต่ครีมเราทากันทุกวัน ดังนั้นก็จะมีประเด็นที่เราสนใจเรื่องความปลอดภัย เรื่องผิวบอบบางมากขึ้นไปอีก ในขณะที่ยาเราโฟกัสเรื่องหายไม่หายเป็นเรื่องหลัก เรื่องอื่นเป็นเรื่องรอง แต่กับเครื่องสำอางแล้ว เรื่องพวกนี้ ถือเป็นเรื่องใหญ่มาก
แม้แต่วัตถุดิบที่ใช้ สมมติน้ำมัน jojoba oil ในทางเภสัชก็คือ jojoba oil อาจมีแบ่งเป็น commercial grade กับ pharma grade แค่นั้น แต่ jojoba oil ในทางเครื่องสำอาง นี่มีแยกย่อยอีกเป็นร้อย ปรับนิด ผสมหน่อย เกิดเป็นชื่อการค้า เป็นรหัสแปลกๆอีก บางอันก็จดสิทธิบัตรให้มีแต่แบรนด์นี้แบรนด์เดียวใช้ได้ด้วย พูดให้มองภาพง่ายๆ สมมติสาหร่าย ในทางเภสัช สาหร่ายก็คือสาหร่าย สาหร่ายพันธุ์นี้แค่นั้นจบ แต่ในทางเครื่องสำอางยังมีสาหร่ายสวีเดน สาหร่ายเกาหลี สาหร่ายสวิสเซอร์แลนด์ หรือวิตามินซี ในทางเภสัช ก็คือวิตามินซี แต่ในเครื่องสำอาง มีวิตามินซีธรรมชาติสกัดจาก……ประเทศ……โดยการสกัดแบบ…..เทคนิค…… เนี่ย แบบนี้ พอมองออกไหมครับ
จะเห็นได้ว่า มันเริ่มจากการที่เราโฟกัสคนละจุด จนองค์ความรู้ที่สนใจศึกษา มันก็เริ่มแตกแขนงแยกย่อยต่างกันมากขึ้นเรื่อยๆ สุดท้ายมันก็เลยค่อยๆแยกออกจากกันไปเรื่อยๆ
ตลาดงานเภสัชเครื่องสำอาง
ในช่วงแรกๆ คนที่ทำด้านเครื่องสำอางก็คือเภสัชเนี่ยแหละ แต่ต่อมาความต่างมันมากขึ้นเรื่อยๆ ประกอบในสมัยก่อนนู้น เภสัชถือว่าหายาก และตลาดเครื่องสำอางโดยรวมแล้วยังให้เงินเดือนตอนเริ่มต้นน้อยกว่าเมื่อเปรียบเทียบกับงานสายตรงด้านอื่นๆ พอถึงช่วงตลาดเครื่องสำอางเริ่มบูมเมื่อ 10-15 ปี ที่ผ่านมา ทำให้มีปัญหาขาดแคลนบุคลากร ช่วงนี้เองที่เริ่มมีการใช้นักวิทย์เข้ามาแทนมากขึ้น แต่นักวิทย์ที่มาทำงานก็ยังไม่พร้อมเริ่มงานทันที ต้องการมีการฝึกสักระยะหนึ่งเพื่อให้มีความเข้าใจพื้นฐานด้านเครื่องสำอางก่อน เพื่อแก้ปัญหานี้จึงมีการตั้งคณะวิทยาศาสตร์-เครื่องสำอางโดยตรงขึ้นมา (หรือในบางที่ก็เป็นสาขาหนึ่งในคณะเภสัชศาสตร์ แต่ใช้เวลาเรียน 4 ปี จบมาได้วุฒิ วท.บ.)
ถามว่าตลาดงานด้านเครื่องสำอางของเภสัชทุกวันนี้เป็นอย่างไร เท่าที่พี่รู้มา (เอาจากความรู้+ประสบการณ์ของพี่เอง เพราะพี่ไม่เคยเห็นว่ามีการศึกษาเรื่องนี้โดยเฉพาะ) โดยส่วนมากงานด้านการผลิตและควบคุมคุณภาพใช้นักวิทย์กันซะเป็นส่วนใหญ่แล้ว เพราะเรียนมาตรงสายมากกว่า ค่าจ้างถูกกว่า อาจมีในบางโรงงานที่ยังใช้เภสัชอยู่ เพราะเภสัชรุ่นเก่าๆทำผลงานได้ดี ทำให้ยังให้เครดิตและเชื่อใจเภสัชแม้จะต้องจ้างแพงกว่า แต่โดยรวมนักวิทย์ก็เข้ามาแทนที่ในอัตราส่วนที่มากขึ้นเรื่อยๆ หรือในบางที่ๆเจ้าของเป็นเภสัชกรเองและเชื่อใจเภสัชด้วยกันเองมากกว่าก็ยังใช้เภสัชกรเป็นแกนหลักอยู่
ส่วนตำแหน่งงานด้านการขึ้นทะเบียน ช่วงแรกๆเลยก็ใช้เภสัช โดยเฉพาะเภสัชที่มีประสบการณ์ด้านการขึ้นทะเบียนยามาก่อน เพราะมี connection กับ อย. ดีอยู่แล้ว แต่ด้วยความที่การขึ้นทะเบียนเครื่องสำอางเนี่ย มันถือว่าง่ายมากเมื่อเทียบกับการขึ้นทะเบียนยา (พี่เคยขึ้นทะเบียนเครื่องสำอาง มีเอกสารประมาณ 20 แผ่น แต่ทะเบียนยาไม่เคยต่ำกว่า 4 แฟ้มตราช้าง) พอผู้ผลิตเริ่มเข้าใจวิธีการและระบบการทำงานของ อย. แล้ว ก็ให้คนจบด้านวิทยาศาสตร์มาทำแทน (หลายๆครั้งไม่ใช่วิทยาศาสตร์เครื่องสำอางด้วย แต่ส่วนใหญ่จะใช้คนที่มีพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์มาบ้าง)
งานที่ยังมีเภสัชทำอยู่มากหน่อย คืองานด้าน R&D อาจเป็นเพราะหลายที่เชื่อว่า งานที่ต้องใช้ความคิดสูง ควรใช้คนเก่ง และก็เชื่อกันว่าเภสัชน่าจะเก่งกว่า แต่เภสัชที่มาทำด้านนี้ส่วนมาก จบ.โท ด้านเครื่องสำอางมาโดยตรง ไม่ใช่แค่ ป.ตรี เภสัช แล้วไปทำเลย แต่ก็เหมือนเดิมครับ นักวิทย์ก็ค่อยๆเข้ามาทดแทนในอัตราส่วนที่มากขึ้นเรื่อยๆ เพียงแต่มาทดแทนในอัตราเร็วที่ช้ากว่างานด้านการผลิต
งานอีกด้าน ที่ถือว่ายังเป็นงานที่ค่อนข้างใหม่ คือเครื่องสำอางเดี๋ยวนี้ หลายที่มีการศึกษาทางคลินิกด้วย ตรงนี้ที่ทำส่วนใหญ่ยังเป็นเภสัชกรอยู่ หรืออย่างน้อยมีเภสัชกรอยู่ในทีมวิจัย อาจเป็นเพราะเภสัชกรมีข้อได้เปรียบตรงที่เภสัชมีความรู้ทางด้านคลินิกด้วย
หากจะให้พูดถึงงานของเภสัชกรด้านเครื่องสำอางโดยสรุป ก็ต้องเข้าใจก่อนว่า งานด้านเครื่องสำอางของเภสัชกรไม่มีกฏหมายเป็นกำแพงด้านตลาดแรงงานเหมือน โรงพยาบาล ร้านยา หรือโรงงานยา ดังนั้นใครจะทำแทนก็ได้ ถ้าเค้ามีความรู้ความสามารถเพียงพอ ที่ผ่านๆมาอาจหาคนมีความรู้ความสามารถมาแทนเลยได้ยาก แต่ทุกวันนี้มีคนจบด้านเครื่องสำอางมาโดยตรงแล้ว ดังนั้น ถ้าผู้ประกอบการเค้าจะยอมจ่ายเพื่อจ้างแพงกว่า เราก็ต้องมีอะไรที่ดีกว่า เค้าถึงจะจ้าง หากคนที่มาทดแทนเค้าสามารถทำได้ดีกว่า หรือพอๆกับเรา ในราคาที่ถูกกว่า เราก็จะถูกทดแทนอย่างรวดเร็วครับ
Share this: