สรุป รายงานเรื่อง หุ่นยนต์ในภาคอุตสาหกรรม: กระแสใหม่ที่แรงงานต้องกังวลจริงหรือ? จาก ธปท.

จากบทความ ไทยใช้หุ่นยนต์อันดับ 10 โลก แบงก์ชาติเตือนแรงงานกว่าครึ่งเสี่ยงตกงานในปี 2028 ซึ่งนำมาจาก รายงานการศึกษาผลกระทบของหุ่นยนต์ต่อแรงงานในภาคอุตสาหกรรมของไทยในหัวข้อ “หุ่นยนต์ในภาคอุตสาหกรรม: กระแสใหม่ที่แรงงานต้องกังวลจริงหรือ?” จากธนาคารแห่งประเทศไทย สรุปได้ดังนี้

สรุป

1. ภาคธุรกิจไทยใช้หุ่นยนต์เป็นอันดับ 10 ของโลก (รองจากจีน ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา เกาหลีใต้ เยอรมนี อิตาลี ไต้หวัน ฝรั่งเศส และสเปน)

แต่อัตราส่วนความหนาแน่นของการใช้หุ่นยนต์ในไทยอยู่ที่หุ่นยนต์ 45 ตัวต่อแรงงาน 1 หมื่นคน ซึ่งต่ำกว่าค่าเฉลี่ยโลกที่มีการใช้หุ่นยนต์ 74 ตัว ต่อแรงงาน 1 หมื่นคน

2. โรงงานที่ใช้หุ่นยนต์ส่วนใหญ่ เป็นโรงงานก่อสร้างใหม่หลังจากเจอน้ำท่วมใหญ่ปี พ.ศ. 2554

3. กลุ่มอุตสาหกรรมที่ใช้หุ่นยนต์มากที่สุดคือ ยานยนต์ ยาง พลาสติก และอิเล็กทรอนิกส์

4. ในอนาคต หากแบ่งตามภูมิภาค แรงงานในภาคกลางมีโอกาสถูกแทนที่ด้วยหุ่นยนต์มากที่สุด (โอกาสถูกแทนที่ 47.4%)

หากแบ่งตาม segment ภาคการเกษตรและอุตสาหกรรมการผลิตมีโอกาสถูกแทนที่ด้วยหุ่นยนต์มากที่สุด (โอกาสถูกแทนที่ 55%)

หากแบ่งตามอายุ กลุ่มที่มีอายุ 15-24 ปี มีโอกาสถูกแทนที่ด้วยหุ่นยนต์มากที่สุด (โอกาสถูกแทนที่ 52.5%)

5. แบงค์ชาติบอกว่า เรื่องตกงาน ไม่ตกงาน ไม่ใช่ดูแค่โอกาสถูกแทนที่ด้วยเทคโนโลยี ให้ดูที่ความต้องการของตลาด และความสามารถของแรงงานจะดีกว่า อนาคตแรงงานทักษะสูงที่ทำงานร่วมกับเทคโนโลยีใหม่ๆได้จะเป็นที่ต้องการสูง

เพิ่มเติม

จริงๆ ในบรรดาแวดวงทั้งผู้เชี่ยวชาญด้านหุ่นยนต์ และ AI ก็มีความเห็นที่ต่างกันออกไปนะครับ ฝั่งที่สนับสนุนให้พัฒนาเต็มที่ก็มี เช่น พี่มาร์ค facebook ของเรานี่เอง ส่วนฝั่งที่คัดค้านก็มีไม่น้อย เช่น elon musk CEO ของ เทสล่า และ SpaceX ก็เสนอให้มีการจัดเก็บภาษี AI และหุ่นยนต์ (คืออารมณ์ประมาณว่า ก็ในเมื่อมันมาทำงานแทนคน ก็เก็บภาษีมันเสมือนว่าเป็นคนทำงานจริงๆซะเลย จากนั้นเราก็ปล่อยหุ่นยนต์ทำงานกันไป คนก็ไปลัลล้า ใช้ภาษีจากหุ่นยนต์มาเลี้ยงคนไม่มีงานทำ) หรือ สตีเฟน ฮอว์คิง ที่พึ่งเสียชีวิตไป ก็ค้าน AI หัวชนฝา ถึงกับบอกถ้าอยากอยู่อย่างสงบสุขให้หยุดพัฒนามันไปเลย

สำหรับในไทยเอง ขอให้เข้าใจก่อนว่า เรามีการใช้หุ่นยนต์อันดับ 10 ของโลกก็จริง แต่พอเทียบเป็นสัดส่วนแรงงานออกมาแล้ว ก็ยังไม่ถือว่าเยอะ แต่สำหรับ AI นั้น เรายังมีการพัฒนาและใช้น้อยกว่าประเทศผู้นำด้าน AI อย่างจีนและอเมริกามาก (คือโดนทิ้งห่างไม่เห็นฝุ่นแล้ว) ทั้งนี้ การที่เรายังมีการใช้น้อย นั่นหมายความว่า ในอนาคต มีโอกาสที่จะมีการใช้เพิ่มขึ้นอีกมาก


Share this:

Posted in บทความ.

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *