จากข่าว สธ. ประกาศ “เภสัชฯ ปี 63” ไม่มีตำแหน่งข้าราชการบรรจุให้ ก็มีคนเข้าใจไปว่า เภสัชจะไม่ได้บรรจุข้าราชการ ซึ่งไม่จริงนะครับ
ก่อนอื่นต้องเข้าใจก่อนว่า ก่อนหน้านี้ ตำแหน่งแพทย์ ทันตแพทย์ และเภสัชกรใช้ทุน กพ.เปิดตำแหน่งข้าราชการเพิ่มให้เพื่อรองรับนักศึกษาคู่สัญญาใช้ทุน แต่ล่าสุด กพ. ตัดสินใจไม่เพิ่มตำแหน่งให้อีกต่อไปในปี 2563 จากนั้นก็ให้กระทรวงสาธารณสุขจัดการกันเองว่าจะจัดสรรตำแหน่งที่มีกันอย่างไร ตอนแรกสาสุขก็บอกว่า ไม่มีปัญหาเพราะเราสามารถเอาตำแหน่งว่าง คือตำแหน่งที่ได้มาจากการเกษียณ+ลาออกของคนเก่า มาให้นักศึกษาใช้ทุนได้
แต่พอสาสุขบอกแบบนี้ ปัญหาเกิด เพราะอย่าลืมว่าเรามี เภสัช รพ. ที่เค้าไม่ได้บรรจุตั้งแต่แรก เค้าก็รอบรรจุโดยรอตำแหน่งว่างเนี่ยแหละ ถ้าเอาตำแหน่งว่างไปให้น้องจบใหม่ มันก็ไม่แฟร์ เพราะเค้าต้องรอตั้งนาน เหมือนเอาของที่เค้ารออยู่ไปให้คนอื่น แต่ของแพทย์ กับ ทันตะ ยังไม่มีปัญหานี้ เพราะที่อยู่ใน รพ. ตอนนี้ ก็ได้บรรจุตอนใช้ทุนกันหมดแล้ว แล้วอย่าลืมว่า แพทย์ ลาออกเยอะ ตำแหน่งว่างมันก็เยอะตามไปด้วย แต่ก็มีน้องบางคนอยากรับราชการ ก็มาถามว่า ซิ่วไปแพทย์ดีไหม อันนี้ พี่ตอบให้ไม่ได้ เพราะอย่าลืมว่าทุกวันนี้แพทย์จบใหม่ปีละ 3 พันกว่าคน แพทย์รุ่นเก่าเกษียณไม่ทันปีละ 3 พันคนหรอก ดังนั้นอีก 6 ปี ก็ไม่มีอะไรการันตีว่าแพทย์ใช้ทุนจะได้บรรจุ ตราบใดที่ กพ. ยังยืนยันว่าจะไม่เปิดตำแหน่งเพิ่มให้ (อย่าลืมว่า ในอดีตก็เคยมีเหตุการณ์ให้นักศึกษาใช้ทุน แบบไม่ได้บรรจุมาแล้ว ดังนั้น เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่)
ดังนั้น หากน้องจบเป็นเภสัชกร แล้วอยากรับราชการใน รพ. น้องก็ต้องเข้าไปทำงานใน รพ. ในตำแหน่งที่ไม่ใช่ข้าราชการก่อน เช่น พนักงานของรัฐ จากนั้นก็รอตำแหน่งว่าง (ที่ได้มาจากคนเก่าเกษียณ+ลาออก) ถึงได้บรรจุ ไม่ได้หมายความว่าไม่ได้บรรจุเลย ถ้าถามว่ารอนานไหม? พี่ขอตอบว่า ถ้าน้องมีเส้น มันก็ไม่นาน
น้องอาจสงสัยว่า เรากำลังเข้าสู่ประเทศสังคมผู้สูงอายุ ผู้ป่วยก็มากขึ้น ภาระงานมากขึ้น ทำไม กพ. ถึงไม่เปิดตำแหน่งให้?
พี่ขอตอบว่า เรื่องนี้โทษ กพ. ไม่ได้หรอกครับ สมัยก่อนประชากรเราเกิดปีละ 1-1.2 ล้านคน ปีล่าสุดเกิดแค่ 6.99 แสนคน นั่นหมายความว่าในอนาคตข้างหน้าคนทำงานจ่ายภาษีจะหายไปเกือบครึ่ง อย่าลืมว่าเงินเดือนข้าราชการมาจากภาษีของประชาชน แถมเกษียณไปแล้วยังมีภาระรายจ่ายเรื่องบำเหน็ดบำนาญอีก ดังนั้น สิ่งที่ กพ. ต้องทำคือลดจำนวนข้าราชการให้เหมาะสมกับโครงสร้างประชาชน พูดกันตามตรงก็ถือว่า กพ. ค่อนข้างใจดีแล้วที่ใช้ นโยบาย zero growth คือไม่เปิดตำแหน่งเพิ่มให้อีก แทนที่จะลดจำนวนข้าราชการไปเลย (แต่บางกระทรวงก็โดนแล้ว คือพอมีคนเกษียณ ก็ปิดตำแหน่งนั้นไปเลย) อย่าลืมว่าด้วยอัตราการเกิดแบบนี้ ในอีก 30 ปี ประชากรเราจะลดเหลือแค่ 55 ล้านคน (บางการศึกษาบอกจะเหลือแค่ 48 ล้าน ด้วยซ้ำ) จากจำนวน 72 ล้านคนในปัจจุบัน ดังนั้นมันเป็นไปไม่ได้ที่จะมีจำนวนข้าราชการเท่าเดิม ยังไงก็ต้องลดข้าราชการลง (จริงๆต้องลดให้ได้ 30% ด้วย แต่จะทำได้หรือเปล่า)
นอกจากนี้ เราจะเห็นได้ว่า ตอนนี้ภาครัฐมีโครงการรีดภาษีทุกทาง เพราะคนทำงานเราเหลือน้อยลง (ถ้าพี่จำไม่ผิด ตอนนี้เราเหลือคนทำงาน 34 ล้าน จาก 35 ล้านคน และจะลดต่อไปเรื่อยๆทุกปี) ดังนั้นภาครัฐจึงต้องรีดภาษีจาก 1.ฐานภาษีเดิม คือคนที่จ่ายภาษีเดิม ก็ต้องหาทางเก็บได้ให้มากขึ้น 2.เก็บภาษีให้ได้ครอบคลุมมากขึ้น จากอันไหนที่เก็บไม่ได้ อยู่นอกระบบ ตรวจสอบไม่ได้ ก็หาวิธีตรวจสอบเพื่อเก็บภาษีชดเชยส่วนที่หายไปให้ได้มากที่สุด ดังนั้นเราจะเห็นโครงการเก็บภาษีใหม่ๆของภาครัฐมาเพียบ ทั้งตรวจสอบรายการเงินเข้า-ออกบัญชี, ภาษีที่ดิน, ภาษีมรดก และจะมีรายการภาษีใหม่ๆตามมาอีกแน่นอน
น้องอาจบอกว่า อ้าวก็ไม่แฟร์สิ คนแก่เยอะขึ้น คนอายุยืนขึ้น ภาระของโรงพยาบาลก็มากขึ้น ถ้าจะประหยัดก็ควรจะประหยัดในส่วนอื่นมากกว่า ไม่ใช่ประหยัดในส่วนของสุขภาพประชาชน อันนี้ พี่ก็เข้าใจทั้ง 2 ฝ่าย อันที่จริงภาครัฐพยายามคุมค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพไม่ให้เกิน 3-5 % ของงบประมาณของประเทศ ดังนั้นถ้าประเทศเรารวย เราก็จะมีเงินเพื่อดูแลสุขภาพประชาชนมากขึ้น แต่ปัจจุบันคนทำงานมันน้อยลง จะให้มีเงินเพิ่มขึ้นมันก็ยาก อย่างไรก็ดีภาครัฐก็ใช้จ่ายงบประมาณด้านสุขภาพให้ประชาชนเพิ่มขึ้นทุกปี ในส่วนของตำแหน่งข้าราชการ ที่ผ่านมา กพ. บรรจุข้าราชการใหม่ให้กระทรวงสาธารณสุขมากที่สุดบรรดาข้าราชการพลเรือนทั้งหมดแล้ว ถามว่าเยอะขนาดไหน ลองดูตัวเลขการบรรจุข้าราชการใหม่ปี 2560 กระทรวงสาธารณสุขได้บรรจุ 10,629 ตำแหน่ง คิดเป็น 52.96% ของข้าราชการพลเรือนที่บรรจุทั้งหมดในปีนั้น (รองลงมาคือ มหาดไทย 11.10% กระทรวงเกษตร 9.15%) จะเห็นได้ว่า กพ. บรรจุข้าราชการให้กระทรวงสาธารณสุขกระทรวงเดียวเกินครึ่งของข้าราชการที่บรรจุทั้งหมดในปีนั้นแล้ว จะบอกว่า กพ. บรรจุให้น้อยก็ไม่ได้นะครับ (รายงานเรื่องนี้ อ่านได้ในรายงานประจำปีของ กพ. ตามลิ้งนี้ https://www.ocsc.go.th/gmis/downloads#2561 มีบันทึกไว้ทุกปี)
ปล. ถ้าสงสัยว่า ถ้าภาระงานมากขึ้น คนไม่พอ จะทำอย่างไร กพ. เขียนไว้ในรายงานชัดเจนนะครับ ว่าให้พิจารณาจ้างเป็นตำแหน่งอื่นที่ไม่ใช่ข้าราชการ เพื่อลดภาระด้านรายจ่ายภาครัฐ ดังนั้น ตำแหน่งราชการในอนาคต จะเป็นอะไรที่บรรจุยากมากขึ้นๆในทุกๆปีแน่นอน
ปล2. หลักการบริหารประเทศ เมื่อรายได้ไม่พอรายจ่าย อย่างแรกที่ต้องลดคือรายจ่ายด้านสวัสดิการประชาชน ที่ควรลดเป็นอย่างท้ายๆคือ การปกครอง เช่น กระทรวงมหาดไทย การดูแลความสงบเรียบร้อย เช่น กระทรวงยุติธรรม ซึ่งแน่นอนว่าเรื่องสาธารณสุขเป็นหนึ่งในสวัสดิการประชาชน ซึ่งตามหลักการแล้วต้องลดเป็นอันดับแรกๆ แต่ที่ผ่านมาภาครัฐไม่กล้าแตะอะไรเยอะ เพราะมีเรื่องการเมืองภาคประชาชนมาเกี่ยวข้องครับ
สุดท้ายนี้ พี่ขอฝากเรื่องตัวเลขอัตรากำลังคนด้านสุขภาพ ซึ่งมาจากการศึกษาของ สธ. เมื่อปี 2560 (เห็นว่ามีของปี 2562 แล้ว แต่พี่ยังไม่มีเวลาไปอ่านสรุปมาให้ครับ ดูของปี 2560 ไปก่อน) แต่ก็ดูคร่าวๆนะครับ ความจริง มันไม่ได้ตามตัวเลขที่ศึกษาหรอก เพราะมันมีเรื่องงบประมาณรายจ่ายภาครัฐ การเมืองภาคในกระทรวง (ใคร power มากก็ได้เยอะ) การเมืองภาคประชาชน (เกิดประชาชนมาเดินขบวนเรียกร้อง ให้บรรจุอาชีพนี้ให้ อะไรแบบนี้ ซึ่งที่ผ่านมารัฐบาลไทยมักยอมทำตามความต้องการของประชาชนครับ)
ปริมาณกำลังคนด้านสุขภาพในปัจจุบัน
– แพทย์ มีจำนวน 50,573 คน (1 ต่อ 1,292 คน)
– พยาบาล มีจำนวน 158,317 คน (1 ต่อ 419 คน)
– ทันตแพทย์ มีจำนวน 11,575 คน (1 ต่อ 5,643 คน)
– ทันตาภิบาล มีจำนวน 6,818 คน (1 ต่อ 9,581 คน)
– เภสัชกร มีจำนวน 26,187 คน (1 ต่อ 2,494 คน)
– เทคนิคการแพทย์ มีจำนวน 15,200 คน (1 ต่อ 4,298 คน)
– นักกายภาพบำบัด มีจำนวน 10,065 คน (1 ต่อ 6,490 คน)
– สัตวแพทย์ มีจำนวน 8,000 คน (1 ต่อ 8,165 คน)
– นักวิชาการสาธารณสุข มีจำนวน 27,035 คน (1 ต่อ 2,416 คน)
– เจ้าพนักงานสาธารณสุขชุมชน มีจำนวน 27,006 คน (1 ต่อ 2,419 คน)
– แพทย์แผนไทย/ประยุกต์ มีจำนวน 30,371 คน (1 ต่อ 2,151 คน)
ความต้องการกำลังคนในปี 2569
– แพทย์ 62779 คน
– พยาบาล 186992 – 193048 คน
– ทันตแพทย์ 17415(18675) คน
– เภสัชกร 39913 คน
– เทคนิคการแพทย์ 23942 คน
– กายภาพบำบัด 11665 คน
– สัตวแพทย์ 10252 คน
– สาธารณสุข 128729 – 142997 คน
– แพทย์แผนไทย/ประยุกต์ 19080 คน
สถานการณ์การผลิตกำลังคนด้านสุขภาพ
– แพทย์ มีการผลิต 21 สถาบัน ผลิตได้ปีละ 3,121 คน
– พยาบาล มีการผลิต 86 สถาบัน ผลิตได้ปีละ 11,000 คน
– ทันตแพทย์ มีการผลิต 13 สถาบัน ผลิตได้ปีละ 616 คน และจะเพิ่มเป็น 826 คน
– ทันตาภิบาล มีการผลิต 7 สถาบัน ผลิตได้ปีละ 400 คน
– เภสัชกร มีการผลิต 19 สถาบัน ผลิตได้ปีละ 2,000 คน
– เทคนิคการแพทย์ มีการผลิต 12 สถาบัน ผลิตได้ปีละ 911 คน
– กายภาพบำบัด มีการผลิต 16 สถาบัน ผลิตได้ปีละ 850 – 900 คน
– สัตวแพทย์ มีการผลิต 9 สถาบัน ผลิตได้ปีละ 650 คน
– สาธารณสุข มีการผลิต 69 สถาบัน ผลิตได้ปีละ 10,988 – 14,197 คน
– แพทย์แผนไทย/ประยุกต์ มีการผลิต 27 สถาบัน ผลิตได้ปีละ 1,080 คน
Share this: