ถ้าพูดถึงสาขา “เภสัชกรรมอุตสาหการ” มันก็ชวนให้นึกถึงการทำงานของเภสัชกรในโรงงานยา ซึ่งกว่าจะบ่มเพาะ (?) นักศึกษาเภสัชศาสตร์คนหนึ่ง ให้กลายเป็นเภสัชกรในโรงงานยาได้แล้ว ก็ถือว่ายากลำบากทีเดียว
วิชาว่าด้วยการทำยา ถ้าจะบอกว่าเป็นแค่ของสายอุตสาหการอย่างเดียวก็ไม่ถูก เพราะสายบริบาลก็ต้องเจอบ้าง (จะรู้กันว่าเป็นการทำ “ยาสำหรับผู้ป่วยเฉพาะราย” ) ถ้าจะอธิบายให้เห็นภาพ ก็ลองนึกถึงเภสัชกรในโรงพยาบาล ที่ได้รับใบสั่งแพทย์มาว่า ต้องการยาที่ไม่มีขายในท้องตลาด หรือไม่มีในโรงพยาบาล เภสัชกรในโรงพยาบาลก็ต้อง “ลงมือปรุงยา” ตามตำรับนั้นขึ้นมาเอง น้องๆ หลายคนอยากเข้าเภสัชด้วยเหตุผลว่าอยากทำแลปนี้ อยากทำยาเป็น ได้เลยค่ะ คณะเภสัชตอบโจทย์น้องแน่ ทั้งยาน้ำ ยาเม็ด ยาฉีด ยาเหน็บ ได้ทำกันอย่างถึงใจแน่นอน
ถ้าเป็นของเภสัชอุตสาหการ จะทำในสเกลใหญ่ขึ้นมาอีก คือถ้าเป็นวิชาผลิตยาของบริบาลเนี่ย จะทำแค่สำหรับคนไข้เคสพิเศษเป็นรายๆ ไป แต่ถ้าเป็นของอุตสาหการ เราจะหมายถึงการผลิตยาในโรงงาน แน่ล่ะว่าทำกันเป็นหมื่นเป็นแสน จะต้องเรียนรู้และทดลองใช้เครื่องจักรต่างๆ ที่ใช้ในโรงงานยา รวมถึงข้อผิดพลาดที่อาจเกิดขึ้น และวิธีแก้ไข การทำยาในระดับอุตสาหกรรมจะผลิตครั้งละปริมาณมาก ดังนั้นก่อนผลิต จึงต้องผ่านการทดลองในแลปสเกลเล็ก (R&D) มาอย่างดี และต้องป้องกันข้อผิดพลาดที่อาจเกิดขึ้นให้ได้ เพื่อให้เกิดความผิดพลาดน้อยที่สุด และในระหว่างการผลิต ต้องมีการแบ่งตัวอย่างยามาทดสอบเบื้องต้น (ไม่ถึงกับ QC) เป็นระยะๆ
ไม่ว่าจะเป็นการทำยาของสายอุตสาหการหรือบริบาล สิ่งหนึ่งที่ต้องเรียนรู้คือ “คุณสมบัติ” ต่างๆ ทั้งทางกายภาพและทางเคมี ทั้งของยาและสารประกอบอื่นๆ ที่ใช้ร่วมกันในการผลิตยา เพื่อนำมาวิเคราะห์ว่า จะสามารถทำยาออกมาได้อย่างไร เมื่อนำสารแต่ละอย่างมาผสมกันแล้ว จะเกิดอะไรขึ้นบ้าง และจะต้องผ่านการคำนวณต่างๆ เพื่อให้ได้ปริมาณของสารต่างๆ ที่เหมาะสม ที่จะนำมาทำยาให้ได้ตามต้องการ
สำหรับสิ่งเหล่านี้ พี่คิดว่าน่าจะถูกใจน้องๆ สายลุย สายแลป สายคำนวณ ไม่เบาเลยล่ะค่ะ
วิชาระดับมัธยมที่เกี่ยวข้อง : คณิตศาสตร์, เคมี
Share this: