หลังจากจบปี 5 หลุดพ้นจากโปรเจคและสัมมนากันแล้ว คราวนี้ วิชาที่เราเรียนจะไม่มีวิชานั่งเรียนเลคเชอร์ในห้องอีกแล้วนะครับ วิชาในปี 6 จะเป็นการฝึกงานล้วนๆ และฝึกกันตลอดทั้งปีรวม 28 หน่วยกิต
สำหรับการแหล่งฝึกงานนั้นก็จะแตกต่างกันไปตามแต่ละมหาวิทยาลัยและสาขาที่น้องเลือกเรียน ที่บอกว่าแตกต่างกันในแต่ละมหาวิทยาลัยเพราะว่า มหาวิทยาลัยแต่ละแห่ง มี connection กับแหล่งฝึกแต่ละที่ไม่เหมือนกันครับ เพราะฉะนั้นตรงนี้มหาวิทยาลัยเก่าแก่จะได้เปรียบกว่า เพราะมี connection ที่กว้างขวางกว่า มีศิษย์เก่าเยอะ และมหาวิทยาลัยเก่าแก่ยังมีข้อมูลแหล่งฝึกในมือมากกว่า จากการที่นักศึกษาที่ไปฝึกงานและกลับมารายงานผลการฝึกปฏิบัติงาน ทำให้รู้ว่าแหล่งนี้เป็นยังไงบ้าง ดีไหม ถ้าเป็นแหล่งฝึกที่ดีก็ต้องสานสัมพันธ์ไว้ให้แน่นๆ แต่ถ้าเป็นแหล่งฝึกที่มีประวัติเสียๆ เช่น มีการข่มขู่น้องแหล่งฝึก หรือพยายามล่วงเกินทางเพศน้องแหล่งฝึก แหล่งฝึกนั้นก็จะถูกตัดออกไปจากสารระบบ
อย่างไรก็ดี ตัวนักศึกษาเองรวมถึงรุ่นพี่ของสถาบันนั้นมีผลอย่างมากต่อความสัมพันธ์กับแหล่งฝึก หากรุ่นพี่ทำผลงานไว้ดี ตั้งใจฝึกงาน ไปช่วยงานพี่ๆที่เค้าทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยงอย่างตั้งใจ ก็จะทำให้แหล่งฝึกนั้นผูกพันกับสถาบันดังกล่าวได้แนบแน่นมากขึ้น อาจนำมาสู่การให้โควต้านักศึกษาฝึกงานแก่สถาบันนั้นมากขึ้น แต่ถ้าทำผลงานไว้ไม่ดี อย่างไม่ตั้งใจฝึกงาน ไม่กระตือรือร้น ทำงานที่ได้รับมอบหมายไม่ได้ พี่ๆของแหล่งฝึกนั้นก็อาจลดโควต้าหรือไม่รับนักศึกษาฝึกงานจากสถาบันนั้นอีกเลย
พี่มีเรื่องจะเล่าให้ฟังครับ สมัยทำงานอยู่ในโรงงานแห่งหนึ่ง โรงงานแห่งนี้จริงๆก็ไม่ได้ระบบดีมากมาย แต่สิ่งก่อสร้าง ผัง และสิ่งอำนวยความสะดวกถือว่าเป๊ะตาม PIC/S GMP มาก เพราะพึ่งสร้างโรงงานใหม่ (มีโรงงานเก่าอีกโรงนึงแต่ปิดตาย ไม่ใช้แล้ว เพราะไม่ผ่าน PIC/S GMP) ที่สำคัญคือโรงงานนี้ไม่รับเด็กฝึกงานมาเป็นสิบปีแล้ว (คือ สมัยก่อนโน้นเคยรับเป็นแหล่งฝึกให้มหาวิทยาลัยนึง แต่มีอยู่รุ่นนึงที่ไม่โอเคเอามากๆ ทำให้พี่เค้าตัดสินใจไม่รับเด็กฝึกงานอีก) แต่ด้วยความที่นักศึกษาเภสัชมีเยอะกว่าแต่ก่อนมาก แหล่งฝึกหลายๆแห่งก็รับเด็กฝึกงานกันจนล้นทะลักแล้ว แถมแหล่งฝึกโรงงานนั้นจัดว่าหายากมาก ทำให้โรงงานนี้ถูกขอร้องให้กลับมารับเด็กฝึกงานอีกครั้ง และด้วยความที่ไม่ได้เป็นแหล่งฝึกมานาน ทำให้ในช่วงแรกๆพี่ๆยังงงกับหลักสูตรและเนื้อหาที่น้องต้องฝึกงาน หลายๆส่วนและหลายๆแผนกที่เป็นความลับของบริษัท ก็ไม่อนุญาตให้นักศึกษาฝึกงานเข้าไปได้ สำหรับแหล่งฝึกพวกโรงงาน พี่ต้องบอกว่าโรงงานที่ Open ยอมให้น้องเข้าไปสำรวจทุกห้อง ดูเอกสารทุกอย่างนั้น มีน้อยจริงๆครับ เพราะเค้ากลัวความลับรั่วไหล ซึ่งมหาวิทยาลัยไหนได้โรงงานนั้นเป็นแหล่งฝึกถือว่าโชคดีมาก เพราะฉะนั้นความสัมพันธ์ระหว่างแหล่งฝึกกับมหาวิทยาลัยเป็นเรื่องสำคัญนะครับ ถ้าน้องอยากได้แหล่งฝึกดีๆ หรืออยากฝึกงานที่ไหนเป็นพิเศษน้องก็ควรศึกษามาบ้างว่า ตรงนี้เค้ารับนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยนี้ไหมนะครับ
อย่างไรก็ตาม แหล่งฝึกดีๆ ก็มักมีคนแย่งกันลงเป็นจำนวนมากอยู่ดี โดยปกติแล้วหากแหล่งฝึกนั้นมีคนลงเกินกว่าโควต้าที่ให้กับมหาวิทยาลัยนั้นๆ เราก็จะมีการจับสลากภายในคณะว่าใครจะได้ไป หรือใครจะไม่ได้ไปครับ การจับสลากที่นิยมใช้กันคือจับตัวเลขทั้งหมด 2 ตัว ตัวเลขแรกที่จับได้จะเป็นหลักหน่วย ตัวเลขที่สองจะเป็นหลักสิบ ใครได้แต้มเยอะกว่า คนนั้นก็ได้ไปต่อ แต่ถ้าได้แต้มน้อยกว่าเพื่อน ก็ต้องเปลี่ยนแหล่งฝึกใหม่ครับ ตอนพี่เรียนพวกสาขา Pharm care ต้องจับสลากกัน แต่พวก Pharm science ไม่ได้จับ เพราะคนเรียนน้อยมาก ทำให้ตกลงกันเองในกลุ่มได้ว่าใครจะไปที่ไหนกันบ้าง
ก่อนจะออกฝึกงาน ส่วนใหญ่แล้วก็จะมีการปฐมนิเทศนักศึกษาก่อนออกฝึกงานจริง เพื่อเตรียมความพร้อม ทบทวนความรู้เล็กน้อย และเน้นย้ำข้อควรระวังและข้อควรปฏิบัติต่างๆก่อนออกฝึกงาน
การฝึกงานจะมีทั้งหมด 6 ผลัด (บางมหาวิทยาลัยจะฝึกทั้งหมด 7 ผลัด ซึ่งจะฝึกผลัดแรกก่อนที่อื่น ดังนั้นผลัดแรกเค้าจะเรียกกันว่าผลัด 0 อย่างของ มข. ก็มีทั้งหมด 7 ผลัดครับ) และฝึกผลัดนึงประมาณ 6 สัปดาห์ครับ (อย่าลืมทำรายงานการฝึกงานส่งอาจารย์ในแต่ละผลัดด้วยล่ะ)
ฝึกงาน Pharm care
ที่ มข. การฝึกงานของสาขาบริบาลจะมีผลัดบังคับ 4 ผลัด คือ
ปฏิบัติงานการบริบาลทางเภสัชกรรมผู้ป่วยนอก 1 – Clerkship in Ambulatory Pharmaceutical Care I
อันนี้จะฝึกงานอยู่ในโรงพยาบาลครับ โดยการฝึกงานผลัดนี้เราจะฝึกงานอยู่ในห้องยาผู้ป่วยนอก (OPD) เป็นหลัก สิ่งที่เราจะได้ฝึกจากผลัดนี้ก็จะมี การให้คำปรึกษาแนะนำการใช้ยา การทบทวนประวัติผู้ป่วย การประเมินและติดตามผลการรักษา ระบบการกระจายยา การส่งมอบยา การค้นหาปัญหาที่เกี่ยวกับยา รวมถึงการหาแนวทางเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาร่วมกับบุคลากรสาธารณสุขและผู้ป่วยครับ ซึ่งทั้งหมดจะเป็นทักษะพื้นฐานของเภสัชกรที่ประจำห้องยาผู้ป่วยนอก (OPD)
ปฏิบัติงานการบริบาลทางเภสัชกรรมผู้ป่วยใน 1 – Clerkship in Acute Pharmaceutical Care I
การฝึกงานในผลัดนี้เป็นการฝึกงานในโรงพยาบาลเช่นเดิมครับ แต่การฝึกงานจะอยู่ในส่วนของผู้ป่วยใน (IPD) โดยเราจะเน้นฝึกปฏิบัติวิชาชีพด้านบริบาลทางเภสัชกรรมแก่ผู้ป่วยที่นอนพักรักษาในโรงพยาบาล ซึ่งก็จะมี การทบทวนประวัติผู้ป่วย การประเมินและติดตามผลการรักษา การค้นหาปัญหาที่เกี่ยวกับยา การหาแนวทางเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาร่วมกับบุคลากรสาธารณสุขและผู้ป่วย การส่งมอบยา และหลังจากผู้ป่วยกลับบ้านได้แล้ว ก็จะมีการให้คำปรึกษาแนะนำการใช้ยาก่อนกลับบ้านครับ
ปฏิบัติงานการจัดการด้านยาในโรงพยาบาล – Clerkship in Drug Management in Hospital
แน่นอนว่าผลัดนี้เราก็ยังอยู่ในโรงพยาบาลเหมือนเดิม อาจจะได้เปลี่ยนโรงพยาบาลหรือได้วนกลับมาโรงพยาบาลเดิมก็แล้วแต่การเลือกและดวงในการจับสลากของน้องนะครับ การฝึกในผลัดนี้เราจะไม่ค่อยได้ใกล้ชิดผู้ป่วยในโรงพยาบาลสักเท่าไร เพราะเราจะเน้นไปที่การฝึกปฏิบัติวิชาชีพเกี่ยวกับการจัดการด้านยาในโรงพยาบาล อย่างระบบการคัดเลือกยาในโรงพยาบาล คณะกรรมการเภสัชกรรมและการบำบัด ระบบการจัดหา ระบบจัดซื้อและระบบผลิตยา การบริหารคลังเวชภัณฑ์ ระบบการกระจ่ายยาและสำรองยาในหน่วยงานต่างๆ ในโรงพยาบาล ระบบการส่งเสริมการใช้ยาอย่างสมเหตุสมผล การพัฒนาคุณภาพและการจัดการความเสี่ยงของระบบยา การบริหารงบประมาณด้านยาและเวชภัณฑ์ และเทคโนโลยีเพื่อการจัดการระบบยา
ให้เลือกฝึก 1 วิชา จาก 2 วิชาต่อไปนี้
4.1 ปฏิบัติงานเภสัชกรรมชุมชน – Clerkship in Community Pharmacy
อันนี้เราจะฝึกปฏิบัติงานในร้านยาครับ ซึ่งก็จะมีการซักประวัติผู้ป่วยในร้านยา การคัดเลือกยา การส่งมอบยา การให้คำปรึกษาแนะนำการใช้ยา การประเมินและติดตามผลการรักษา และการค้นหาปัญหาที่เกี่ยวกับยาครับ
4.2 ปฏิบัติงานเภสัชกรรมปฐมภูมิ 1 – Clerkship in Primary Pharmacy I
ฝึกปฏิบัติวิชาชีพในหน่วยบริการปฐมภูมิครับ (หน่วยบริการปฐมภูมิก็อย่างเช่น รพ.สต. ครับ แต่ความหมายมันกว้างมาก ใครไม่รู้ว่าหน่วยบริการปฐมภูมิคืออะไร อ่าน http://medinfo2.psu.ac.th/commed/activity/year2/a10pcu.pdf ) ฝึกเกี่ยวกับบทบาทของเภสัชกรในงานเภสัชกรรมระบบปฐมภูมิ การจัดการระบบยาในชุมชน การจัดหาและการบริหารเวชภัณฑ์ การบริบาลทางเภสัชกรรม: การบริหารความเสี่ยงใน การจ่ายยา การให้คำปรึกษาเรื่องยา การติดตาม ป้องกัน แก้ไขปัญหาที่เกี่ยวกับการใช้ยาของผู้รับบริการ การส่งเสริมสุขภาพและการป้องกันโรคในหน่วยบริการปฐมภูมิ การบริการเภสัชกรรมที่บ้าน การประยุกต์ใช้ระบบสารสนเทศเพื่อการจัดการเภสัชกรรมในหน่วยบริการปฐมภูมิ
ให้เลือกฝึกจำนวน 3 ผลัด จากวิชาดังต่อไปนี้
ปฏิบัติงานเภสัชกรรมคลินิกด้านการติดตามอาการไม่พึงประสงค์จากยา – Clinical Pharmacy Clerkship in Adverse Drug Reaction Monitoring
ฝึกในโรงพยาบาลเช่นเคยครับ แต่อันนี้จะเน้นไปที่อาการไม่พึงประสงค์จากยา (ADR) อย่างเดียวเลย โดยเราจะฝึกติดตามอาการไม่พึงประสงค์ในการใช้ยา ค้นหาและประเมินอาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา ติดตามการเกิดอาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยาในผู้ป่วยเฉพาะราย เสนอวิธีการแก้ไขและป้องกันอาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา ค้นหาประวัติการใช้ยาและอาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยาโดยการสัมภาษณ์ผู้ป่วย และการรายงานอาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยาครับ
ปฏิบัติงานการตรวจตราติดตามระดับยาเพื่อการบำบัด – Clerkship in Therapeutic Drug Monitoring
เป็นการฝึกงานในโรงพยาบาลครับ แต่จะเน้นไปทางการติดตามตรวจวัดระดับยา (TDM) อย่างเดียวเลย สิ่งที่เราจะได้ฝึกก็มีการคำนวณพารามิเตอร์ทางเภสัชจลนพลศาสตร์ในผู้ป่วยเฉพาะราย การปรับขนาดของการใช้ยา การแปลผลระดับยาในเลือด การให้คำแนะนำ การติดตาม และดูแลผู้ป่วยที่ส่งตรวจวัดระดับยาในเลือดครับ
ปฏิบัติงานการบริบาลทางเภสัชกรรมผู้ป่วยใน 2 – Clerkship in Acute Pharmaceutical Care II
เหมือนการฝึกปฏิบัติงานการบริบาลทางเภสัชกรรมผู้ป่วยใน 1 ครับ แต่ว่าเปลี่ยนผลัดใหม่ เปลี่ยนโรงพยาบาลที่ฝึกครับ (แต่คนที่ได้ฝึกโรงพยาบาลเดียว 2 ผลัดก็มีนะครับ ก็จะกลายเป็นได้ฝึก Acute Pharmaceutical ควบยาว 3 เดือนเลย)
ปฏิบัติงานด้านทะเบียนผลิตภัณฑ์และกฎหมายทางเภสัชกรรม 1 – Clerkship in Drug Registration and Pharmaceutical regulations I
เราจะฝึกปฏิบัติงานกันในบริษัทยา หรือโรงงานยาครับ ซึ่งเราจะได้ฝึกเกี่ยวกับการขึ้นทะเบียนผลิตภัณฑ์ยา การแก้ไขสูตรตำรับ เอกสารกำกับยา บรรจุภัณฑ์ การขออนุญาตโฆษณา การจัดทำรายงานตามที่กฎหมายกำหนด และการกำกับดูแลกิจกรรมต่างๆที่เกี่ยวกับการส่งเสริมการตลาดยารวมถึงการปฏิบัติตามข้อกำหนดทางจริยธรรมครับ
ปฏิบัติงานด้านทะเบียนผลิตภัณฑ์และกฎหมายทางเภสัชกรรม 2 – Clerkship in Drug Registration and Pharmaceutical regulations II
เป็นการฝึกต่อเนื่องจากการปฏิบัติงานด้านทะเบียนผลิตภัณฑ์และกฎหมายทางเภสัชกรรม 1 ครับ ผลัดนี้เราจะฝึกการขึ้นทะเบียนผลิตภัณฑ์ยาในระดับภูมิภาคอาเซียน การประสานงานกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) การมีส่วนร่วมในการพัฒนาระบบข้อมูลเวชภัณฑ์เพื่อผู้บริโภค และการพัฒนางานด้านทะเบียนผลิตภัณฑ์ในองค์กรครับ
ปฏิบัติงานด้านเภสัชกรรมการตลาด 1 – Clerkship in Pharmaceutical Marketing I
ใครอยากเป็นดีเทลต้องลงฝึกผลัดนี้ให้ได้เลยนะครับ การฝึกในผลัดนี้จะเป็นการฝึกด้านการตลาดในบริษัทยา ได้แก่ ด้านการจัดการข้อมูลการตลาด การบริหารงานบุคคล กฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการขึ้นทะเบียนยา จรรยาบรรณในการประกอบวิชาชีพ การกำหนดนโยบายและวางแผนการตลาดครับ
ปฏิบัติงานด้านเภสัชกรรมการตลาด 2 – Clerkship in Pharmaceutical Marketing II
ฝึกต่อเนื่องจากปฏิบัติงานด้านเภสัชกรรมการตลาด 1 ครับ เราจะฝึกด้านส่วนประสมของระบบการตลาดยา จรรยาบรรณที่เกี่ยวข้องในการประกอบวิชาชีพ การประเมินผลการขายและการวิเคราะห์ตลาดครับ
ปฏิบัติงานด้านการคุ้มครองผู้บริโภคด้านผลิตภัณฑ์สุขภาพและการบริการสุขภาพ 1 – Clerkship of Consumer Protection in Health Products and Health Services I
การฝึกในผลัดนี้จะเป็นฝึกเกี่ยวกับงานคุ้มครองผู้บริโภคครับ ซึ่งแหล่งฝึกก็มักเป็น สสจ. (สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด) ไม่ก็ อย. ครับ ในผลัดนี้เราจะได้ฝึกการวิเคราะห์สถานการณ์ปัญหาที่เกี่ยวเนื่องมาจากผลิตภัณฑ์สุขภาพและการบริการสุขภาพ การเฝ้าระวังปัญหาและการดำเนินการแก้ไขปัญหาอันเนื่องมาจากผลิตภัณฑ์สุขภาพและการบริการสุขภาพ การสนับสนุนและส่งเสริมสิทธิผู้บริโภค การรับเรื่องราวร้องทุกข์ต่างๆครับ
ปฏิบัติงานเภสัชกรรมชุมชนขั้นสูง 1 – Clerkship in Advanced Community Pharmacy I
ฝึกปฏิบัติงานในร้านยาครับ พวกแนวคิดการจัดการเชิงธุรกิจ จริยธรรมวิชาชีพ การตัดสินใจประกอบการการเปิดร้านยาคุณภาพ การประเมินปัญหาสุขภาพและความต้องการยาของชุมชน การคัดเลือก และจัดซื้อยาและเวชภัณฑ์ การกำหนดราคา การบริหารการเงิน การบัญชี การวางแผนการตลาด กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับร้านยา และการบริหารคุณภาพการให้บริการครับ
ปฏิบัติงานเภสัชกรรมชุมชนขั้นสูง 2 – Clerkship in Advanced Community Pharmacy II
ฝึกปฏิบัติงานในร้านยาเช่นเดิม ผลัดนี้จะฝึกพวกการจัดการโรคที่พบบ่อยและโรคเรื้อรัง การบริหารความเสี่ยงในการจ่ายยา การคัดกรองโรค และประเมินสุขภาพเบื้องต้น การให้คำปรึกษา การส่งต่อผู้ป่วย การติดตาม ป้องกัน แก้ไขปัญหาที่เกี่ยวกับการใช้ยาของผู้รับบริการและชุมชน การส่งเสริมสุขภาพและการป้องกันโรค การบริการเภสัชกรรมที่บ้าน การเชื่อมต่อกิจกรรมระหว่างร้านยา ชุมชน และระบบบริการสุขภาพครับ
ปฏิบัติงานเภสัชกรรมปฐมภูมิ 2 – Clerkship in Primary Pharmacy II
เหมือนการฝึกปฏิบัติงานเภสัชกรรมปฐมภูมิ 1 ครับ แต่ว่าเปลี่ยนผลัดใหม่ เปลี่ยนแหล่งฝึกใหม่
ปฏิบัติงานการจัดการปัญหาสุขภาพที่เกี่ยวข้องกับผลิตภัณฑ์สุขภาพในชุมชน – Clerkship in Administrative Health Problem Related to Health Products in Community
ฝึกปฏิบัติงานในชุมชนด้านการวางแผนแก้ไขปัญหาสุขภาพที่เกี่ยวข้องกับผลิตภัณฑ์สุขภาพ การเขียนโครงการเพื่อแก้ไขปัญหา การดำเนินการแก้ไขปัญหา เช่น การให้สุขศึกษา การเสริมสร้างศักยภาพ การเฝ้าระวัง การบังคับใช้กฎหมาย การจัดการโครงการ การประเมินโครงการแก้ไขปัญหา
การฝึกปฏิบัติวิชาชีพด้านการพัฒนานโยบายด้านยาบนพื้นฐานของหลักฐาน – Professional Practice in Evidence-Based Drug Policy Development
ฝึกงานด้านพัฒนานโยบายด้านยาบนพื้นฐานของหลักฐานในสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ในประเด็นความเชื่อมโยงของบริบท ผู้แสดง เนื้อหา และกระบวนการนโยบายที่สัมพันธ์กับการก่อรูป นโยบาย การนำนโยบายไปปฏิบัติ และการประเมินผลนโยบายครับ
ปฏิบัติงานด้านการขึ้นทะเบียนผลิตภัณฑ์และการบังคับใช้กฎหมาย – Clerkship in Drug Registration and Law Enforcement
ฝึกปฏิบัติงานด้านการขึ้นทะเบียนผลิตภัณฑ์เหมือนอันก่อนครับ แต่อันนี้น่าจะเป็นการฝึกใน อย. ครับ (คืออันที่แล้วเราอยู่ในมุมมองของบริษัทยาที่จะยื่นขึ้นทะเบียน คราวนี้เราอยู่ในมุมมองของผู้ตรวจสอบบ้าง) การฝึกก็จะมีการประเมินฉลากและเอกสารกำกับยา การประเมินประสิทธิภาพ ความปลอดภัย และประสิทธิผลของการขึ้นทะเบียนตำรับยา การจัดเตรียมเอกสารประกอบการขึ้นทะเบียนตำรับให้ครบถ้วนและถูกต้อง และฝึกทักษะการบังคับใช้กฎหมาย การตรวจมาตรฐานสถานที่ผลิตยา การจัดการตามข้อร้องเรียนในสถานที่จริงครับ
ฝึกงาน Pharm science
ที่ มข. การฝึกงานของสาขาอุตสาหการมีผลัดบังคับ 2 ผลัด คือ
1. ปฏิบัติงานด้านการผลิตยา 1 – Clerkship in Pharmaceutical Production I
ผลัดนี้จะเป็นการฝึกงานในฝ่ายผลิตของโรงงานยาต่างๆครับ เพื่อให้เข้าใจถึงบทบาท หน้าที่ ความรับผิดชอบของเภสัชกรที่ทำหน้าที่เกี่ยวกับการผลิต และเรียนรู้ระบบการบริหารงานต่างๆในโรงงาน รวมไปถึงการฝึกปฏิบัติเตรียมผลิตภัณฑ์ทั้งในขั้นตอนของการผลิตและการควบคุมคุณภาพครับ
2. การฝึกปฏิบัติวิชาชีพด้านการประกันและการควบคุมคุณภาพเภสัชผลิตภัณฑ์ 1 -Professional Practice in Quality Assurance and Quality Control of Pharmaceutical Product I
ฝึกปฏิบัติวิชาชีพด้านการประกันและควบคุมคุณภาพเภสัชผลิตภัณฑ์ในสถาบันหรือมหาวิทยาลัย เช่น กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ฝ่ายผลิตของโรงพยาบาล หรือห้องปฏิบัติการของสถาบันหรือมหาวิทยาลัย เพื่อให้เข้าใจถึงการประกันและควบคุมคุณภาพเภสัชผลิตภัณฑ์ครับ
ให้เลือกฝึกจำนวน 5 ผลัด จากวิชาดังต่อไปนี้
ปฏิบัติงานด้านการผลิตยา 2 – Clerkship in Pharmaceutical Production II
ในผลัดนี้จะเป็นการฝึกงานในฝ่ายผลิตของโรงงานยาหรือแหล่งฝึกอื่นๆที่เกี่ยวข้อง เช่น โรงงานเครื่องสำอาง โรงงานอาหารเสริม ฝ่ายผลิตของโรงพยาบาล หรือสถาบันที่มีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการผลิตผลิตภัณฑ์เหล่านี้ โดยจุดมุ่งหมายของการฝึกในผลัดนี้ เพื่อให้เข้าใจถึงกระบวนการผลิตและพัฒนาผลิตภัณฑ์ การพัฒนาสูตรตำรับ และการแก้ไขปัญหาในการผลิตครับ
ปฏิบัติงานด้านการผลิตยา 3 – Clerkship in Pharmaceutical Production III
ในผลัดนี้จะเป็นการฝึกงานในฝ่ายผลิตของโรงงานยาหรือแหล่งฝึกอื่นๆที่เกี่ยวข้อง เช่น โรงงานเครื่องสำอาง โรงงานอาหารเสริม ฝ่ายผลิตของโรงพยาบาล หรือสถาบันที่มีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการผลิตผลิตภัณฑ์เหล่านี้ โดยจุดมุ่งหมายของการฝึกในผลัดนี้ เพื่อให้เข้าใจถึงกระบวนการประกันคุณภาพ ข้อปฏิบัติที่ดีในการผลิตและการตรวจสอบคุณภาพผลิตภัณฑ์ การดำเนินการตามกฏหมายและมาตรฐานที่เกี่ยวข้องกับการผลิตยา รวมถึงการขึ้นทะเบียนยาและการดำเนินการทางด้านสิ่งแวดล้อมครับ
การฝึกปฏิบัติวิชาชีพด้านวิจัยและพัฒนา 1 – Professional Practice in Research and Development I
การฝึกงานในผลัดนี้จะเป็นการฝึกงานด้านวิจัยและพัฒนายาและผลิตภัณฑ์ธรรมชาติ ซึ่งอาจจะเป็นงานวิจัยในสาขาเภสัชวิทยาและพิษวิทยา หรืองานด้านการวิเคราะห์ยา และสารพิษในห้องปฏิบัติการหรืองานด้านคลินิก ในหน่วยงานราชการหรือหน่วยงานเอกชน อย่างโรงงานอุตสาหกรรมยา โรงงานผลิตเครื่องสำอาง หรือโรงงานผลิตภัณฑ์อื่นที่คล้ายคลึงกัน หรือไปฝึกที่สถาบัน ศูนย์วิจัยหรือมหาวิทยาลัยที่มีการค้นคว้าทดลองในเรื่องของการวิจัยและพัฒนาทางเภสัชศาสตร์ครับ
การฝึกปฏิบัติวิชาชีพด้านวิจัยและพัฒนา 2 – Professional Practice in Research and Development II
เหมือนๆกับการฝึกปฏิบัติวิชาชีพด้านวิจัยและพัฒนา 1 ครับ แต่ว่าเปลี่ยนผลัดใหม่ เปลี่ยนแหล่งฝึกครับ
ปฏิบัติงานเภสัชกรรมชุมชน – Clerkship in Community Pharmacy
อธิบายไปแล้วใน Pharm care ครับ รายละเอียดเหมือนกัน
ปฏิบัติงานด้านทะเบียนผลิตภัณฑ์และกฎหมายทางเภสัชกรรม 1 – Clerkship in Drug Registration and Pharmaceutical Regulations I
อธิบายไปแล้วใน Pharm care ครับ รายละเอียดเหมือนกัน
ปฏิบัติงานด้านทะเบียนผลิตภัณฑ์และกฎหมายทางเภสัชกรรม 2 – Clerkship in Drug Registration and Pharmaceutical Regulations II
อธิบายไปแล้วใน Pharm care ครับ รายละเอียดเหมือนกัน
การฝึกปฏิบัติวิชาชีพด้านการควบคุมคุณภาพและวิเคราะห์ยา – Professional Practice in Quality Control and Drug Analysis
ฝึกงานด้าน QC (QC= Quality control = ควบคุมคุณภาพยาครับ) ซึ่งงานหลักก็จะเป็นวิเคราะห์ผลิตภัณฑ์ยา แหล่งฝึกในผลัดนี้อาจเป็นฝ่ายควบคุมคุณภาพในโรงงานยา หรือไปฝึกที่สถาบันอย่างกรมวิทย์ หรือมหาวิทยาลัยที่มีหน่วยงานวิเคราะห์ก็ได้ครับ
ปฏิบัติงานด้านการขึ้นทะเบียนผลิตภัณฑ์และการบังคับใช้กฎหมาย – Clerkship in Drug Registration and Law Enforcement
อธิบายไปแล้วใน Pharm care ครับ รายละเอียดเหมือนกัน
ปฏิบัติงานด้านการผลิตยา 4 – Clerkship in Pharmaceutical Production IV
ในผลัดนี้จะเป็นการฝึกงานในฝ่ายผลิตของโรงงานยาหรือแหล่งฝึกอื่นๆที่เกี่ยวข้อง เช่น โรงงานเครื่องสำอาง โรงงานอาหารเสริม ฝ่ายผลิตของโรงพยาบาล หรือสถาบันที่มีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการผลิตผลิตภัณฑ์เหล่านี้ โดยจุดมุ่งหมายของการฝึกในผลัดนี้ เพื่อให้เข้าใจถึงกระบวนการประกันคุณภาพ ข้อปฏิบัติที่ดีในการผลิตและการตรวจสอบคุณภาพผลิตภัณฑ์ ข้อปฏิบัติที่เกี่ยวข้องกับมาตรฐานสากลครับ
การฝึกปฏิบัติวิชาชีพด้านการประกันและการควบคุมคุณภาพเภสัชผลิตภัณฑ์ 2 – Professional Practice in Quality Assurance and Quality Control of Pharmaceutical Product II
ฝึกงานด้านการประกันและควบคุมคุณภาพเภสัชผลิตภัณฑ์ในโรงงานอุตสาหกรรมยา หรือแหล่งฝึกปฏิบัติงานอื่นๆ ตามความเหมาะสม เช่น อุตสาหกรรมเครื่องสำอาง อาหารเสริม หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้เข้าใจถึงการประกันและควบคุมคุณภาพเภสัชผลิตภัณฑ์ครับ
บทส่งท้าย
หลังจากที่น้องฝึกงานกันเสร็จเรียบร้อยแล้ว ก็ต้องกลับมารายงานการฝึกงานที่คณะ สิ่งที่รออยู่หลังจากนั้นคือการเตรียมตัวเพื่อสอบใบประกอบวิชาชีพ มหาวิทยาลัยไหนมีการกำหนดให้สอบรอบยอดก่อนจบ ก็ต้องสอบรวบรอดให้ผ่านซะก่อน (ไม่งั้นยื่นจบไม่ได้) ระหว่างนั้นก็อาจจะมีงานปัจฉิม พอเสร็จสิ้นการสอบใบประกอบแล้ว ต่างคนก็ต่างแยกย้ายไปตามทางเดินชีวิตของตัวเอง ใครตัดสินใจจับสลากใช้ทุนก็รอจับสลากใช้ทุนกันไป ครั้งสุดท้ายที่น้องจะได้เจอเพื่อนๆแบบพร้อมหน้าพร้อมตาคืองานรับปริญญา เวลา 6 ปี จะว่านานมันก็นาน จะว่าสั้นมันก็สั้น ขอให้น้องเก็บเกี่ยวประสบการณ์และความทรงจำที่ดีๆในคณะนี้ไว้ให้มากที่สุดนะครับ
จบกันไปแล้วนะครับสำหรับการเรียน 6 ปีในคณะเภสัชศาสตร์ สำหรับที่ไม่จบใน 6 ปี ก็อย่าพึ่งท้อ รีเกรดได้ อาจารย์คณะเภสัชส่วนใหญ่ใจดี ถ้าน้องใจสู้ไม่ยอมแพ้ อาจารย์ดันให้จบทุกคน เว้นเสียแต่ว่าจะหนักมากจริงๆจนรีไทร์ไปตั้งแต่ปีแรกๆ แบบนี้อาจารย์คงช่วยอะไรน้องไม่ได้
อย่างไรก็ตาม หากในที่สุดแล้ว หากน้องไม่ไหวจริงๆ ในหลักสูตรนี้เขียนไว้ว่า “ในกรณีที่นักศึกษาไม่ประสงค์ศึกษาจนสำเร็จการศึกษาหลักสูตรเภสัชศาสตรบัณฑิต นักศึกษามีสิทธิ์ขอรับปริญญาวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาวิทยาศาสตร์การแพทย์ได้” ดังนั้นหากน้องมีหน่วยกิตสะสมอยู่ในระดับนึง แต่ไปต่อไม่ไหวแล้ว น้องสามารถไปตรวจสอบวิชาที่สอบผ่านว่ามีพอจะขอปริญญาวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาวิทยาศาสตร์การแพทย์ ได้ไหม
อย่างที่พี่บอกไว้ตั้งแต่ในปฐมบทแล้วว่าหลักสูตรที่พี่อิงมาเขียนบทความนี้คือ หลักสูตรเภสัชศาสตรบัณฑิต หลักสูตรปรับปรุง พ.ศ. 2556 ของมหาวิทยาลัยขอนแก่น สำหรับมหาวิทยาลัยอื่นๆนั้น ตัวหลักสูตรก็จะมีความแตกต่างไปบ้าง แต่โดยรวมแล้ววิชาหลักที่เรียน และเนื้อหาหลักๆที่ได้เรียนจะเหมือนๆกันหมด อย่างไรก็ตาม ตามปกติ หลักสูตรจะมีการปรับปรุงทุก 5 ปี อยู่แล้ว พี่ก็ไม่แน่ใจว่าพอหลักสูตรถัดๆมาประกาศใช้ พี่จะมีเวลามานั่งพิมพ์สรุปยาวๆแบบนี้ให้น้องๆอ่านกันอีกไหม แต่อย่างไรเสีย ไม่ว่าหลักสูตรจะเปลี่ยนไปทั้งหมดกี่ครั้ง เนื้อหาหลักๆที่น้องจะต้องเรียนในคณะเภสัชศาสตร์นั้นไม่เคยเปลี่ยนแปลงครับ เพียงแต่มันจะมีการปรับปรุงและเพิ่มเติมไปตามสมัยและความรู้ใหม่ๆที่เพิ่มเติมเข้ามา อย่างไรเสีย เดี๋ยวพี่จะเขียนบทสรุปให้อ่านกันอีกทีนึงว่า ในเกณฑ์บังคับของสภาเภสัชกรรมล่าสุด เค้ากำหนดไว้ว่าในหลักสูตรเภสัชศาสตรบัณฑิตต้องประกอบด้วยอะไรบ้างแล้วกันนะครับ
ก่อนหน้า
การเรียนในคณะเภสัชศาสตร์ ตอนที่ 1 : ภาพรวม ปฐมบท
การเรียนในคณะเภสัชศาสตร์ ตอนที่ 2 : ปี 1 สดใส ลั้ลล้า
การเรียนในคณะเภสัชศาสตร์ ตอนที่ 3 : ปี 2 Welcome to คณะแพทย์
การเรียนในคณะเภสัชศาสตร์ ตอนที่ 4 : ปี 3 ฝ่าด่านอรหันต์ กลุ่มวิชาชีพบังคับ
การเรียนในคณะเภสัชศาสตร์ ภาค 5 : ปี 4 ทางเลือก
การเรียนในคณะเภสัชศาสตร์ ตอนที่ 6 : ปี 5 ทางเดินที่แตกต่าง
Share this: