เวลาของเรา หายไปตั้งแต่เมื่อไรกันนะ

ค่ำวันศุกร์แบบนี้ ถ้าเป็นตอนพี่อยู่ ม.ปลาย มันคงเป็นเวลาที่มีความสุขที่สุด เพราะนั่นหมายความว่าการฝึก รด. (ซุึ่งโรงเรียนพี่จะฝึกกันวันศุกร์) ได้เสร็จสิ้นลงแล้ว และใช้เวลาอีกแค่ไม่กี่อึดใจ ในการนั่งรถ 2 ต่อ เพื่อกลับถึงบ้าน จะได้ไปอาบน้ำให้สบายตัว พร้อมรับบรรยากาศวันเสาร์อันแสนสุขสักที (วันเสาร์ปกติพี่จะเรียนพิเศษตอนเช้า แล้วตอนบ่ายจะไปเล่นเกมส์)

แต่ moment แบบนั้นมันผ่านมา แล้วก็ผ่านไป พี่ไม่รู้สึกแบบนั้นมานานมากแล้ว

ทำไมกันนะ? ทำไมตอนนั้นเราถึงชิวได้ขนาดนั้น

ลองนึกย้อนกลับไปตอนอยู่ชั้นประถม การเรียนตอนประถมนี่มันช่างน่าเบื่อและนานแสนนานกว่าจะหมดวัน กลับไปบ้านก็เหลือเวลาเยอะแยะให้วิ่งเล่นกับเพื่อน พี่เป็นคนไม่พกนาฬิกา และสมัยนั้นไม่มีมือถือ แต่พี่กลับรู้สึกว่า พี่มีเวลาว่างมากพอจะสร้างยานบินไปดวงจันทร์ให้เสร็จภายใน 10 ปี ด้วยตัวคนเดียวด้วยซ้ำ

พอขึ้นมาตอน ม.1 ชีวิตเริ่มเร่งรีบมากขึ้น ต้องตื่นแต่เช้ามากขึ้น เพราะโรงเรียนอยู่ไกลมากขึ้น การไม่ขึ้นรถช้า 5 นาที หมายความว่าอาจไปโรงเรียนสายกว่าเดิมไม่น้อยกว่า 15 นาที ตอนนั้นพี่เริ่มใส่นาฬิกาข้อมือ แต่ก็ใส่ไปยังงั้นแหละ สุดท้ายก็เลิกใส่ เพราะไม่เคยได้ดูเวลา น่าแปลกที่ตอนนั้นพี่ไม่ได้ดูเวลาเลย แต่กลับบอกเวลาได้ถูกต้อง และคำนวณเวลาได้ดีกว่าตอนนี้ซะอีก แถมได้นอนวันละ 8 ชั่วโมงทุกวันด้วย ตอนนั้นเกมส์ online เริ่มเข้ามาใหม่ เด็กๆติดเกมส์กันงอมแงม แต่พี่ก็ยังรู้สึกว่าเวลาเหลืออยู่ดีนั่นแหละ และก็เป็นแบบนี้ไปถึง ม.3

ตอน ม.3 พี่ก็มีแฟนคนแรกครับ สวยและน่ารักมากเลยทีเดียว เธอเป็นคุณหนูโรงเรียนเอกชน ส่วนพี่นั้นอยู่โรงเรียนชายล้วนเถื่อนๆ ไม่น่าจะมาคบกันได้เลย เราคุยโทรศัพท์กันหนักมาก วันนึงไม่ต่ำกว่าวันละ 2 ชั่วโมง แถมตอนนั้นพี่ก็ติดเกมส์มากเช่นเดียวกัน แต่ก็ยังรู้สึกว่าเวลายังเหลืออยู่ดี

พอขึ้น ม.ปลาย พี่ก็เริ่มเรียนพิเศษมากขึ้น การเรียนก็เริ่มยากขึ้น กลุ่มเพื่อน กลุ่มสังคมก็ใหญ่ขึ้น กิจกรรมต่างๆก็มากขึ้น แถมยังมี รด. มากวนเวลาอยู่เรื่อยๆ (โรงเรียนพี่บ้า รด. ครับ นึกจะเรียกตอนไหนก็เรียก วันดีคืนดีอยากได้แชมป์สวนสนามก็ซ้อมจนถึง 1 ทุ่ม 2 ทุ่มก็มี) แถมการบ้านโครตตตตตตตเยอะ ไม่รู้อาจารย์ตอน ม.ปลายจะให้การบ้านอะไรเยอะหนักหนา แค่นั่งลอกยังลอกไม่ทันเลย มันไม่เหมือนสมัยนี้ที่ถ่ายรูปแล้วส่งกันในไลน์ได้นะ สมัยก่อนต้องมาร์คไว้เลยว่าคนนี้จะทำวิชาไหน พอถึงตอนเช้าก่อนเข้าแถวจะต้องเอามาแบ่งกันลอก ถ้าวันไหนต้นฉบับวิชาไหนมาสายนี่สงไม่ทันกันยกห้องเลยทีเดียว

แต่ถึงอย่างนั้น ตอน ม.ปลาย พี่กลับรู้สึกว่า เวลามันค่อนข้างพอดีๆ ไม่มากไป ไม่น้อยไป อาจเป็นเพราะพี่เลิกกับแฟนคนแรกด้วยมั้ง เลยมีเวลามากขึ้น

พอเข้ามหาวิทยาลัย นั่นแหละเป็นครั้งแรกที่พี่เริ่มรู้สึกจริงๆว่า เวลาไม่พอ ทั้งเรียนทั้งกิจกรรม ไหนจะสังคม เพื่อนใหม่ๆอีก ตอนนี้มี hi5 แต่พี่ก็ยังนิยมคุยใน msn อยู่ พี่มีเพื่อนใน msn 3000 กว่าคน ทั้งเพื่อนโรงเรียน เพื่อน มข. เพื่อนเภสัช เพื่อนแพทย์ PI ไหนจะรุ่นน้อง ม.ปลาย ที่มาขอคำปรึกษาอีก เยอะมาก การเรียนเภสัชก็หนักหน่วง แต่ตอนนั้นก็สนุกมากเหมือนกัน เป็นช่วงชีวิตที่ได้เจออะไรใหม่เยอะมาก

หลังจาก ปี 2 ก็เรียนๆๆๆๆๆ เรียนมันทุกวัน การเรียนเภสัชหลักสูตร 5 ปี เนื้อหามันอัดนะครับ หลักสูตร 6 ปี เนื้อหามันจะคลายๆลงมาแล้ว วิชาไหนเนื้อหามากๆก็แตกออกเป็น 2 เทอมในหลักสูตร 6 ปี ถ้าช่วงไหนมีกิจกรรมหรือ event อะไรพิเศษสักนิด อาจารย์จะสอนไม่ทันแล้วต้องนัดเรียนวันเสาร์-อาทิตย์ เพิ่มทันที ไม่ต้องพูดถึงงาน เพราะแค่แลบก็ต้องมีรีพอร์ตแลบส่งทุกวันอยู่แล้ว พวกงานที่เป็นโปรเจคหรือโครงการนี่ช่วงใกล้พรีเซนต์ต้องทำกันถึงเช้าเลยทีเดียว ดังนั้นตั้งแต่ ปี 2 เป็นต้นมา ไม่ใช่แค่เวลาไม่พอนะครับ แต่เวลามันหายไปไหนหมดเลยก็ไม่รู้ เหมือนหลับตาสั้นๆแปบเดียว พอลืมมาก็ต้องสอบแล้ว เป็นแบบนี้จริงๆ (แต่เรื่องความรักเราก็ไม่ทิ้งนะครับ มีเวลาให้เสมอ อิอิ)

แต่ถ้าหากเวลาพี่หายไปหมดเพราะเรียนหนักจริง หลังจากเรียนจบ สอบสภาเภสัชกรรมเสร็จ มันก็ควรมีเวลาว่างเหลือเฟือถูกไหมครับ แต่เปล่าเลย มันน่าแปลกจริงๆที่ทำไมแค่อยู่บ้านเฉยๆ เวลาก็หายไปไหนหมดไม่รู้ จะบอกว่าเป็นเพราะแกนโลกเอียงหลังแผ่นดินไหวที่ชิลีทำให้เวลาหายไป ก็ไม่ใช่ เพราะมันหายไปน้อยมาก แค่ติ่งของเศษของเสี้ยวของวินาทีเท่านั้น เพราะฉะนั้นถ้าจะบอกว่าหายไปเพราะเรียนหนัก ก็ไม่น่าจะถูกซะทีเดียว

ฤา ต้นเหตุจะมาจาก facebook

ทริสทัน แฮร์ริส (Tristan Harris) นักจริยธรรมด้านการออกแบบที่เคยทำงานให้ google อธิบายว่า การเล่น smartphone ก็เหมือนการพนันที่มีการหวังผลบางอย่าง หากได้ผลตามที่เราชอบหรือต้องการเราก็มีความสุข และเมื่อเราเริ่มเสพติดความสุขเหล่านั้น เราก็อดลุ้นต่อไปเรื่อยๆไม่ได้ ยกตัวอย่างเช่น

  • การรีเฟรชหน้าจอใหม่เพื่อหวังว่าจะมีอีเมลเข้ามาใหม่ ตอนที่เลื่อนดูภาพในอินสตาแกรมเพื่อเห็นภาพความเคลื่อนไหวของเพื่อนหรือบุคคลที่เราติดตามว่าเค้าไปที่ไหน เป็นยังไง ทำอะไร
  • รู้สึกตื่นเต้นเมื่อได้รับการแจ้งเตือนในสื่อโซเชียลมีเดียอย่าง facebook และ line (ซึ่งเราอดใจไม่ได้ที่จะดูว่าเกิดอะไรขึ้น)
  • การเปิดดูวิดีโอในยูทูบที่มีระบบเล่นอัตโนมัติและเปิดวิดีโอตัวต่อไปเรื่อยๆ (ถ้าเลื่อนไปได้อันที่เราชอบ เราก็มีความสุข เมื่อเรามีความสุข ก็อยากมีความสุขอีก เราก็เสี่ยงลองให้มันเลื่อนไปอีก จนจากเดิมที่เราตั้งใจดูแค่ไม่กี่คลิป ก็กลายเป็นการดูที่ยาวนานเป็นชั่วโมง)

ในชีวิตประจำวันของเรา เราจะถูกรบกวนจากสื่อ social media ไม่จบไม่สิ้น ถ้าตอนนั้นน้องมีพลังใจพอ (พลังใจเป็นเรื่องของ willpower เป็นเรื่องยาวพอสมควร เอาไว้ว่างๆพี่จะเขียนให้อ่านแล้วกัน) น้องจะมีสมาธิที่จะมุ่งมั่นทำสิ่งที่กำลังทำอยู่ต่อไปได้ แต่ถ้าไม่พอ โอกาสที่น้องจะกดไปดูมีสูงมาก

การกดไปดูในแต่ละครั้ง เราเสียเวลามากแค่ไหน?

ในงานวิจัยเรื่อง “The Cost of Interrupted Work : More Speed and Stress” พบว่า โดยเฉลี่ยแล้วเราจะใช้เวลาประมาณ 23 นาทีในการกลับมาโฟกัสกับสิ่งที่ทำอยู่หลังจากถูกขัดจังหวะ อย่างไรก็ตามการถูกขัดจังหวะจะไม่ส่งผลเสียต่อประสิทธิภาพการทำงาน (คือสุดท้ายจะกลับมาทำงานได้เท่าเดิม เหมือนไม่ถูกขัดจังหวะ) แต่ผู้ที่ถูกรบกวนจะรู้สึกกดดันและมีความเครียดที่เพิ่มขึ้นมาก เพราะต้องเร่งรีบในการทำงานให้มากขึ้น และต้องใช้พลังในการดึงตัวเองกลับมาทำงานให้ได้ในชีวิตจริงหลังจากใช้เวลาในโลกออนไลน์ นอกจากนี้กลุ่มวัยรุ่นที่ใช้ social media มักรู้สึกกดดันว่าตัวเองไม่ดีพอตลอดเวลา เพราะอดไม่ได้ที่จะเปรียบเทียบตัวเองกับคนอื่นนโลกออนไลน์

จริงๆ พี่ไม่ได้แอนตี้ social media นะครับ ในทางตรงกันข้าม พี่กลับชอบมันมากๆ และไม่เคยปฏิเสธมัน แต่เรื่องที่น่าแปลกก็คือ มนุษย์เรามักทำผิดพลาดซ้ำๆ ในเรื่องเดิมๆ อย่างคาดเดาได้ เพราะฉะนั้นเราควรเรียนรู้ว่า จุดที่เราพลาดมันมักอยู่ตรงไหนและจะแก้ไขมันยังไง อย่างโดนขัดจังหวะทีนึง เราเสียไป 23 นาที ซึ่งไม่ใช่น้อยๆเลย ดังนั้น ในเมื่อเรารู้ตัวว่าถ้าเราโดนขัดจังหวะแล้วควบคุมตัวเองไม่ให้ไหลไปกับ social media ไม่ได้ เราจะหาวิธีควบคุมตัวเองยังไง เพื่อที่จะได้เหลือเวลาไปทำงานอย่างอื่นที่มีผลกับเป้าหมายระยะยาวของมากกว่าครับ

ที่มา : http://www.tcdc.or.th/creativethailand/article/Insight/26376/#How-do-you-spend-time-in-this-moment?

 

 


Share this:

Posted in เรื่องเล่า.

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *