การดูคะแนนสูงต่ำ Admission ยังมีประโยชน์อยู่ไหม ในเมื่อเภสัชแต่ละมอกำหนดเกณฑ์ไม่เหมือนกัน (ปี 2565)

จากโพสต์นี้ สรุปคะแนน Admission เภสัช TCAS รอบ 3 ปี 2565

ก็มีคนมาถามพี่ว่า จัดอับดับคะแนนสูงต่ำไปทำไม แต่ละมอก็ใช้เกณฑ์ไม่เหมือนกัน แถม ม.สารคาม ใช้ T-Score ไม่น่าเอามาเปรียบเทียบได้

พี่ขอตอบอย่างนี้ละกันครับ

การที่แต่ละมอกำหนดเกณฑ์เอาเอง ย่อมมีช่องให้วิจารณ์ได้อยู่แล้วครับ แต่ว่าเภสัชส่วนใหญ่ก็ยังใช้เกณฑ์เหมือนกัน มีแค่ มธ. ที่ไม่เหมือน มออื่น มอเดียว ดังนั้นประเด็นเรื่องรายวิชาและสัดส่วนผมว่าไม่เกี่ยว ที่มีผลและแตกต่างกันจริงๆคือการกำหนดเงื่อนไขการรับสมัคร และเกณฑ์ขั้นต่ำ ทั้งนี้ ที่ผ่านมา มน. ไม่ใช่ มอแรกที่เคยกำหนดเกณฑ์สูง (หรือปีเก่าๆบางปีก็เคยมีแบบกำหนดเกรดเวอร์ๆ 3.8 มาแล้ว) แต่ว่าสำหรับเภสัชไม่เคยเปิดแผลตรงนี้ให้เห็น เพราะคนเรียนส่วนใหญ่ผ่านเกณฑ์ขั้นต่ำกันอยู่แล้ว จะเห็นได้ว่าถ้าคนที่สอบติดล้วนผ่านเกณฑ์ขั้นต่ำ เกณฑ์ตรงนี้ก็แทบไม่มีผลกับคะแนนเลย แต่หลังๆมาเด็กน้อยลงมาก แล้วที่นั่งในมหาลัยเพิ่มขึ้นเยอะมาก โดยเฉพาะที่นั่งในคณะที่เป็น first choice อย่างคณะแพทย์ ประกอบกับปีนี้วิชาสามัญอย่างอังกฤษยากขึ้นผิดหูกลายปี กลายเป็นว่าเกณฑ์ขั้นต่ำ 40 คะแนน ทำให้เด็กเลือกไม่ได้หรือคนที่เลือกได้เด็กก็ติดคณะบนๆไปก่อนหมด

การนำคะแนนจัดลำดับ ผมคิดเสมอว่า คนที่เอาไปใช้ ได้ใช้ประโยชน์ไหม เพราะผมตั้งใจให้น้องรุ่นหลังที่ต้องการเลือกเภสัชจริงๆ มีแนวทางคะแนนไว้เปรียบเทียบ เป็นความจริงที่ว่า การที่แต่ละมอกำหนดเกณฑ์แบบนี้ ทำให้เราไม่สามารถบอกได้ชัดเจนตรงๆอีกต่อไปว่า มอนี้คะแนนมากกว่ามอนี้ แต่จะบอกว่าเอาไปใช้ประโยชน์ตอนเลือกอันดับในปีถัดๆไป ไม่ได้เลย ก็ไม่ได้เหมือนกัน เพราะแนวโน้มโดยรวมก็ยังใช้ได้อยู่ แต่ต่อไปจะใช้ตรงๆไม่ได้ ต้องคิด วิเคราะห์ ต่ออีกชั้น เช่น T-Score ก็ต้องมีดูว่า ปีนั้นคะแนนเฉลี่ยเท่าไร SD เท่าไร แล้วปีนี้คะแนนเฉลี่ยเท่าไร SD เท่าไร

การที่เด็กน้อยลง แต่ที่นั่งเพิ่มขึ้น ในขณะที่มหาลัยยังอยากได้เด็กเก่งเหมือนเดิม เราคงได้เห็นอภินิหารอะไรแปลกๆ ดัดแปลงนั่นนิด นี่หน่อย เพื่อเทคนิคดึงเด็กไว้กับตัวให้่ได้ก่อนเป็นอันดับแรกมากขึ้นเรื่อยๆ หรือบางในบางกรณีก็อาจจะเป็นประโยชน์โดยรวม หากเทียบประโยชน์ที่ได้ กับข้อเสีย เช่น การห้ามสละสิทธิ์ในบางรอบ แม้ว่าจะผลเสียกับเด็กที่สอบได้ แต่เป็นประโยชน์โดยรวมกับการกั๊กที่สำหรับเด็กที่สอบไม่ได้ แต่อยากได้จริงๆ

การที่จะนำแนวโน้มคะแนนสูงต่ำมาเปรียบเทียบแล้วไม่ได้ประโยชน์อะไรเลย จะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อ แต่ละมอใช้เกณฑ์การคัดเลือกไม่เหมือนกันเลย ในแง่ของวิชาที่ใช้ และสัดส่วนคะแนน ถ้าเป็นแบบนั้นจริง ผมคงทำได้แค่เอาคะแนนแต่ละมอมาใส่ๆ ไม่ต้องเรียงให้ เพราะเรียงไปยังไงก็ไม่เกิดประโยชน์ มีประโยชน์อย่างเดียวแค่ ประหยัดเวลาในการหาคะแนนของคณะเภสัชแค่นั้นเอง

การที่ยา 2 ชนิด ชนิด A กิน 10 คน หาย 7 คน ไม่หาย 3 คน ชนิด B กิน 10 หาย 5 คน ไม่หาย 5 คน แน่นอนว่า การบอกว่ายา A ดีกว่ายา B ไม่ใช่เรื่องที่ถูกทั้งหมด 100% แต่การจะบอกว่ายา A กับ B นั้นไม่แตกต่างกันเลย ก็ไม่ใช่เรื่องที่ถูกต้องเหมือนกัน


Share this:

Posted in เรื่องเล่า.

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *