เงินเดือนกับความก้าวหน้าเภสัชสายอุตสาหการ ตอนนี้เป็นไงบ้าง

พอดีมีน้องถามคำถามนี้เข้ามา แล้วในฐานะที่พี่เองอยู่ในสายนี้ มา 10 ปี ขอแยกเป็นแบบนี้แล้วกันครับ

ขอพูดถึงภาพรวมสถานการณ์ตอนนี้ก่อน

พี่เคยเขียนบทความเรื่องสถานการณ์ตลาดแรงงานของเภสัชไปหลายบทความ อย่างเช่น เภสัชกรล้นตลาดแล้วหรือยัง ซึ่งถ้าน้องสังเกตุให้ดีๆ ถ้าเป็นตลาดงาน เภสัชอุตสาหการถ้าคิดเป็น % เหมือนจะขาดหนักมาก แต่ถ้ามองที่จำนวน จะเห็นได้ว่าตลาดงานทางด้านคลินิกใหญ่กว่ามาก ยกตัวอย่างง่ายๆ สมมติเภสัชอุตสาหการในตลาดควรมี 3000 คน แต่มีตอนนี้จริงๆแค่ 1000 กว่าๆ ในขณะที่คลินิกมีเภสัชในตลาดงานเป็นหมื่นคนแล้ว แต่ตลาดก็ยังรองรับได้อีกหลายพัน หรืออาจจะถึงหมื่น พอคิดเป็น % แล้วเหมือนเภสัชอุตสาหการจะขาดคนมากกว่า แต่เอาเข้าจริงๆ เด็กจบมา fill แปบเดียวก็เต็มแล้ว ในขณะที่ทางด้านคลินิกเหมือนจะขาดคนน้อยกว่า แต่ตลาดงานนั้นใหญ่กว่ามาก ทำให้รองรับคนได้มากกว่า ซึ่ง ณ ตอนนี้มันก็เป็นแบบนั้นจริงๆ

ถ้าพูดถึงตอนพี่จบใหม่เมื่อ 10 ปีที่แล้ว เภสัชที่ทำงานอุตสาหการนั้นหายากมาก แม้แต่ที่ดีๆ ยังหาคนกันตำแหน่งนึง 2-3 เดือน ถ้าที่รองๆมาหน่อยไม่ต้องพูดถึง หากันข้ามปีกว่าจะได้คนก็มี แต่ด้วยความที่ size ของตลาดงานมันเล็กกว่า พอผ่านมาแค่ 10 ปี เริ่มเห็นการเปลี่ยนแปลง

ถ้าเป็นตำแหน่งดีๆ ในที่ดีๆ มักจะไม่ค่อยว่าง หรือว่างก็มักไม่เกิน 1-2 เดือน แต่ถามว่าตำแหน่งว่างเยอะไหม ก็ตอบว่ายังเยอะอยู่ แต่มักเป็นที่เกรดรองๆลงมา ไม่เหมือนแต่ก่อนที่แม้แต่ที่ดีๆดังๆ ยังหาคนกันให้พรึ่บ ซึ่งที่รองๆลงมา ยังใช้เวลาหาคนค่อนข้างนาน คือประมาณ 2-6 เดือน เอาจริงๆ พี่ว่า ที่ไหนที่ turnover rate สูง มันก็สูงอยู่ตลอด เภสัชเข้าไปแปบๆก็ออก แต่ที่ไหน turnover rate ต่ำ ถ้าได้คนแล้ว มักหายยาวๆไปเลย

ความก้าวหน้า-เงินเดือน

ถ้าพูดถึงความก้าวหน้า + เงินเดือน พี่ขอแบ่งเป็นสายงานแล้วกัน

สายงานผลิต

สายงานผลิต ถ้าเป็นเมื่อ 10-20 ปีที่แล้ว นี่คือดาวรุ่งที่แท้ทรู เพราะเป็นสายงานที่กำความลับองค์กรไว้เยอะมาก แถมคนทำตำแหน่งนี้ ต้องมีทักษะหลายอย่าง ทั้ง ความเป็นผู้นำ, การวางแผน, การแก้ปัญหาเฉพาะหน้า, ระบบคุณภาพ, Formulation, งานช่าง, งานวิศวกรรม และมักเป็นตัวเต็งขึ้นตำแหน่ง Plant Manager เสมอๆ เป็นตำแหน่งที่เป็นแนวหน้าและเดอะแบกขององค์กรจริงๆ

แต่หลังๆมา Plant Manager กลายเป็นคนที่มาทางสาย Engineer ซะเยอะ แล้วด้วยความที่สายงาน QA มันมีความสำคัญขึ้นมามากขึ้นกว่าแต่ก่อนเยอะ (แล้วแผนก QA มันใหญ่ขึ้นด้วยแหละ จากแต่ก่อนมีแค่คนเดียวไว้เซนต์ปล่อยยา หรือบางที่คนเดียวก็ควบทั้ง QC/QA ตอนนี้หลายๆที่ QA มีเป็นทีมใหญ่เบ้อเริ่ม) เพราะงานระบบข้อกำหนดต่างๆมันยากและซับซ้อนกว่าแต่ก่อนมาก ทำให้สายงาน QA ก็มักเป็นอีกหนึ่งตัวเต็งที่จะได้ขึ้น Plant Manager ไม่แพ้กัน

แต่สำหรับองค์กรเล็กๆสำหรับบริษัทที่ยังเป็นธุรกิจครอบครัวอยู่ Plant Manager ก็มักเป็นคนในกงสี คือเจ้าของ ไม่ก็ญาติเจ้าของอ่ะแหละ เป็นเอง ทั้งนี้ขอไม่พูดถึงตำแหน่งสูงกว่านั้นอย่าง MD นะ เพราะ MD ถ้าเป็นบริษัทเล็กๆก็มักเป็นหุ้นส่วนคนสำคัญของบริษัท หรือถ้าเป็นองค์กรข้ามชาติ MD ก็มักถูกส่งตรงมาจากบริษัทแม่ แต่ถามว่าเภสัชขึ้นไปถึง MD มีไหม ตอบว่ามี อย่างพี่บุญรักษ์ ก็เคยไปถึง MD ของเมอร์ริเออร์ชีววัตถุ บริษัทในเครือ Sanofi มาแล้ว

สำหรับทักษะที่ใช้ในสายงานผลิตตอนนี้หลายที่ไปหนักตรงวางแผนซะเยอะ เพราะงานแก้ปัญหาและ Formulation ทาง R&D และ QA เข้ามามีบทบาทมากขึ้น เรื่อง Leadership ที่ก็มีโฟร์แมนช่วย support อีกต่อนึงก่อน (แต่ทักษะนี้ก็ยังสำคัญมากๆอยู่) งานช่าง, งานวิศวกรรม ต่างๆ Engineer ก็เข้ามามีบทบาทมากขึ้น (ด้วยความที่ระบบและเครื่องไม้เครื่องมือมันซับซ้อนมากขึ้นเรื่อยๆด้วยแหละ) พวกระบบคุณภาพแต่ก่อนผลิตมักดูพวก Qualification, Process Validation เองเกือบหมด แต่หลังๆมาพออะไรๆมันซับซ้อนขึ้น QA RD Engineer ก็มีบทบาทมาดูเรื่องพวกนี้มากขึ้น

แล้วหลังๆพวกยาชีววัตถุต่างๆมันเริ่มเข้ามา ซึ่ง know how พวกนี้มันซับซ้อน มันก็มีคนที่จบโท-เอก ด้าน Biotechnology เข้ามาดูโดยตรงด้วย คือไม่ใช่เภสัชผลิตไม่สำคัญ หรือหายไปนะ เพียงแต่ มันไม่ได้เป็น everything ของแผนกเหมือนยาเคมีดั้งเดิมอีกต่อไป

แต่ถึงจะไม่ได้พีคเท่าแต่ก่อน แต่พี่ก็มองว่า ผลิต ก็เป็นสายหนึ่งที่ยังรุ่งและมีความก้าวหน้าดีอยู่นะ เพียงแค่แต่ก่อนมัน OP เกิน อย่างไงความก้าวหน้าสายนี้ อย่างน้อยตำแหน่ง Production Manager มันก็นอนมาอยู่ละ สำหรับเงินเดือน ถ้าตำแหน่ง Production Pharmacist เฉยๆตอนนี้ก็อยู่ราวๆ 30-60K ถ้า Manager ก็ประมาณ 60K-120K แต่ตัว Topๆ ในวงการก็เดาว่าน่าอยู่ที่ประมาณ 100-200 K นะ

สายงานผลิต เป็นตำแหน่งที่พี่อยากให้ได้ลองทำสักครั้งนะ เพราะสายงานผลิต เป็นสายงานที่ได้ฝึกทักษะที่สอนกันยากอ่ะ 55555 ไม่เหมือน QC/QA ที่เรียนจากเภสัชตำรับ + Guideline ต่างๆได้ค่อนข้างเยอะ แล้วถ้าเข้าใจผลิต มันจะมองและเข้าใจระบบในแบบ Practical ได้ดีขึ้นเยอะ พี่ยกตัวอย่าง QA ที่มาทางสาย QA วิชาการเพียวๆ กับ QA ที่เคยทำผลิตมาก่อน มุมมอง ความคิด สไตล์การทำงาน การแก้ปัญหา จะไม่เหมือนกันเลยนะ คนละแนวกันเลย

ข้อดีของสายงานผลิตอีกอย่าง คือเป็นอีกสายงานที่ย้ายข้ามอุตสาหกรรม ไปทำพวกอาหารเสริม เครื่องสำอางค์ เครื่องมือแพทย์ ได้ง่ายด้วย จริงๆ พวกวัตถุอันตราย อย่างน้ำยาทำความสะอาด ยากันยุง พี่ก็เคยเห็นรับเภสัชผลิตนะ แต่ไม่บ่อยนัก นานๆจะเห็นโผล่มาที แต่ถ้าที่ไหนที่ทำทั้งยาและวัตถุอันตราย ส่วนใหญ่ก็เภสัชนั่นแหละ ดูควบทั้ง 2 อย่าง 5555555

สายงาน QC

สายงาน QC ถ้าพูดถึงความก้าวหน้า บอกเลยว่า ตันที่ QC Manager

สายงาน QC เป็นสายงานที่มีตำแหน่งว่างเสมอไม่เคยขาด และน่าจะเป็นสายงานที่ตำแหน่งระดับ M-Level พวก Assistance Manager, Manager ว่างบ่อยที่สุดละ เป็นตำแหน่งที่ส่วนใหญ่จะมี turn overate สูง

แล้วทำไมถึงเป็นแบบนั้น?

จะบอกว่าสายงานนี้น่าสงสารนะครับ เหมือนเป็นคนปิดทองหลังพระ เพราะสายงานนี้ทำ แต่ผลงานมักตกไปเป็นของคนอื่น

ยกตัวอย่างนะครับ งานทะเบียน Part Quality เยอะมาก ซึ่งแน่นอนว่าคนทำผลคือ QC แต่เวลาไปยื่นทะเบียน ทะเบียนไปยื่น พอได้ทะเบียนมา หรือยื่นแก้ไขได้ ผลงานเป็นของใคร ก็ของทะเบียนไง 555555 พอนึกภาพออกไหมครับ

หรืออย่างงานคุณภาพ ถามว่า QA จะตัดสินได้ดีขนาดไหน จะ investigation ได้ตรงจุดไหม พวกนี้ต้องอาศัยข้อมูลจาก QC เป็นพื้นฐาน ยิ่งมีข้อมูลที่มากและถูกต้อง QA ก็มองภาพอะไรได้ชัดเจนขึ้น แก้ปัญหาได้ดีขึ้น อุดรอยรั่วต่างๆได้ดียิ่งขึ้น ซึ่งแน่นอนว่า ถ้าระบบมันดี มันก็เป็นผลงานของ QA อะไรแบบนี้

การเป็นแบบนี้ไม่ใช่เรื่องที่ดีนะครับ เพราะการที่ QC ดูไม่มีผลงานของตัวเอง เป็นชิ้นเป็นอัน มันทำให้ระดับบริหาร เค้ามองว่า QC ไม่ก่อให้เกิดรายได้ มีแต่รายจ่าย นำไปสู่การประหยัดต้นทุนกับ QC ในที่สุด (แต่ QC มันก็เปลืองจริงแหละ มีแต่ของแพงๆ ค่า maintenance ก็แพง 55555555) แต่มันเป็นการทำให้รากฐานของข้อมูลในเชิงคุณภาพอ่อนแอไปด้วย

แต่เดี๋ยวก่อน QC ไม่ได้เศร้าอะไรขนาดนั้น เพราะหลายที่เภสัช QC ต้องทำ QA ด้วย (และมักพ่วงทะเบียนไปด้วย เพราะบางที่ทะเบียนแค่ยื่นเอกสารเฉยๆก็มี) มันก็จะดูเป็นเดอะแบกขึ้นมาทันที 555555555

นอกจากนี้ บางที่ ไม่มีตำแหน่งเภสัช QC แล้ว (อันนี้หมายถึงในทางปฏิบัตินะ เพราะตาม พรบ.ยา ต้องมีเภสัชควบคุมคุณภาพ 1 คน แต่หลายๆที่ ก็เอาชื่อเภสัช QA นั่นแหละ ไปใส่ว่าเป็นผู้มีหน้าที่ปฏิบัติการควบคุมคุณภาพ แล้วก็เขียนโครงสร้างองค์กรให้ QC under QA แต่เนื้องานจริงๆ เภสัชคนนี้แทบไม่ได้ดูงาน QC เลย ดู QA ล้วนๆ) คือในทาง ดังนั้นบางที่ก็จะมองแค่ว่า QC ทำแลบอย่างเดียวพอ ใช้นักวิทย์ไป ส่วนงานอื่นๆที่ดูแล้วต้องเป็นเภสัชทำ ก็ให้เป็น QA ทำไป

แต่ส่วนนะ พี่ว่า องค์กรที่เภสัชดู QC เอง แลบแข็งกว่านะ คือไม่ได้ว่านักวิทย์ไม่เก่งหรือยังไง เพียงแต่พี่รู้สึกจริงๆว่ามันเป็นเรื่อง mindset คือลึกๆเภสัชมักมีมุมมองเรื่อง Pharmacology, ceutics, clinical พวกนี้ด้วย แต่นักวิทย์มักโฟกัสไปที่ Analysis เป็นหลัก คือพี่ก็อธิบายไม่ถูก จะว่าไงดี คือไอทักษะที่ว่าจะว่าได้ใช้ไหม มันก็ไม่เชิงนะ แต่การที่เข้าใจและมีมุมมองเรื่องพวกนี้ด้วย ประกอบกับการที่ focus แต่ละเรื่องไม่เท่ากัน มันทำให้ Mindset มันออกมาไม่เหมือนกัน และพี่ว่าโรงงานยาไทย QC ยังต้องมี consideration มากกว่าแค่มุมมองเรื่อง Analysis อยู่น่ะ แล้วพี่ว่าการมีเภสัช QC มันทำให้การคุยกับแผนกอื่นง่ายขึ้นด้วย เพราะ QC ต้องติดต่อประสานหลักๆคือผลิต QA แล้วก็ทะเบียน การที่เป็นเภสัชเหมือนกัน มันคุยเข้าใจกันง่ายกว่า (ในเชิงวิชาการนะ ไม่ใช่การเมือง ถ้าการเมือง เภสัชก็ซัดกันแรงอยู่ 5555555+) คงแบบนี้ละมั้ง หลายๆที่จึงยังคงมีตำแหน่งเภสัช QC อยู่ แม้ว่าในปฏิบัติหลายๆที่จะเอาชื่อของเภสัชที่จริงๆทำงาน QA มาใส่ว่าเป็น QC แต่เนื้องานจริงๆไม่ได้ดู QC เลย ก็คือเป็น QC/QA ที่ดูแต่งาน QA นั่นแหละ

เอาจริงๆ ปัญหาของ QC ที่มี turn overate สูง จริงๆ พี่ว่าเป็นเรื่องของความก้าวหน้าซะมากกว่า

คือ QC อย่างที่บอกว่า ส่วนใหญ่มันก็จบตันที่ QC Manager นั่นแหละ แล้วย้ายข้ามอุตสาหกรรมก็ยากหน่อย เพราะงาน QC ในอุตสาหกรรมอื่น ส่วนมากก็โฟกัสแต่งานวิเคราะห์จริงๆ ทำให้ต่อให้เรามีทักษะทำได้ ส่วนใหญาเค้าก็ไม่อยากจ่ายค่าตัวเรทเภสัชอ่ะ 5555 แต่ก็มีบ้างนะ ในอุตสาหกรรมที่ยังต้องการ know how ทางด้านเภสัชวิเคราะห์ หรือต้องการเอาข้อมูลใน Pharmacopoeia ไปประยุกต์ใช้ และอย่างที่บอกไปว่า QC หลายที่มักต้องดูงาน QA ด้วย หลายคนเลยเลือกที่จะไปโตต่อในสายงาน QA มากกว่า หรือบางคนก็เค้าความรู้พื้นฐานด้าน QC ไปทำต่อยอดด้านทะเบียนก็มี 

แต่ข้อดีก็มีนะ เพราะการที่เป็นแบบนี้ มันทำให้โตเป็น Manager กันไว พี่ว่าถ้านับอายุงานเฉลี่ยจริงๆ QC น่าจะเป็นสายงานที่มี Manager อายุน้อยเยอะที่สุดละ โดยเฉลี่ย 3-5 ปี ก็ขึ้น QC Manager กันละ (หลังๆมา น่าจะเยอะขึ้นหน่อย เพราะพี่ๆอยู่ในตำแหน่งกันนานขึ้น 55555) แล้ว QC เป็นตำแหน่งที่ใช้ Hard Skill ค่อนข้างเยอะ ซึ่ง Hard Skill และความรู้ทางวิชาการมันเป็นเรื่องที่อัดเอาในระยะเวลาสั้นๆได้ ไม่เหมือนตำแหน่งที่ต้องใช้ Soft Skill เยอะๆ ซึ่งต้องหมั่นฝึกฝนขัดเกลาจากประสบการณ์ในทุกๆวัน ทำให้การโตเร็วมักไม่เกิดปัญหาอะไร  ประกอบกับการแข่งขันภายในแผนกมักมีไม่ค่อยเยอะ เพราะเภสัช QC มักมีกันไม่กี่คน ส่วนมากมีกันแค่ 1-2 คน องค์กรกลางๆค่อนไปทางใหญ่ๆหน่อยอาจมีสัก 4 คน ยกเว้นแต่องค์กรไหนที่ต้องดูทั้ง QC/QA ในแผนกเดียว อันนี้อาจจะมีเยอะหน่อย แต่ถ้าเป็นองค์กรที่มีแผนกที่ดู QC เพียวๆอย่างเดียว พี่ว่าเกิน 60% ที่มีแค่ QC Manager คนนึง กับ QC Pharmacist อีกคน หรือไม่ก็มีแค่ QC Manager คนเดียวไปเลย ดังนั้น ตำแหน่ง Manager มันจะไปไหนอ่ะ มันก็นอนมาแน่ๆอยู่แล้ว

สำหรับเงินเดือน ถ้าเป็นตำแหน่ง QC Pharmacist เฉยๆ มักอยู่ที่ 30-70K ส่วน Manager จะอยู่ที่ 60-90K หาคนที่ทะลุ 100K ยาก เว้นแต่ว่าจะเป็น QC ที่ต้องดู QA หรือทะเบียนด้วย ถึงมีโอกาสทะลุ 100K หรือไม่ก็เป็นคนเก่าคนแก่ที่เติบโตด้วยกันมากับเจ้าของ ร่วมทุกข์ร่วมสุขฟันฝ่าด้วยกันมา หรือมารับตำแหน่งตอนองค์กรกำลังวิกฤตและเราต้องเข้ามาแก้ปัญหาในเวลานั้นพอดี แบบนี้ก็มีเกิน 100K

สายงาน QA

สายงาน QA เป็นสายงานที่รุ่งเรืองขึ้นมาหลังจาก GMP PIC/s ปี 2554 บังคับใช้ แต่ก่อนหลายๆที่ QA เป็นแค่คนเซนต์ปล่อยผ่านยา หรือ QC นั่นแหละควบ QA ไปด้วย เพราะไหนๆก็ตรวจผลแลบละ ตรวจ BPR ปล่อยด้วยไปเลยละกัน 555555 แต่หลังจากปี 2554 เป็นต้นมา หลายๆที่หน่วยงาน QA ใหญ่ขึ้นมาก เข้าไปดูระบบและประเมินอะไรต่อมิอะไรมากมาย

QA เป็นงานที่ พี่ไม่รู้เหมือนกันจะอธิบายลักษณะงานยังไง เพราะงานมันกว้างมากกกกกกกกกกกก……… แถมยังมีขอบเขตไม่ค่อยชัดเจน เพราะหลายๆงานมันไปคาบเกี่ยวกับงานของแผนกอื่น (ต้องบอกว่างานส่วนใหญ่หรือเกือบทุกงานของ QA ล้วนคาบเกี่ยวกับแผนกอื่นทั้งนั้นจนบางทีงงๆว่า QA ต้องมีขอบเขตไปดูขนาดไหนถึงจะพอดี) จะบอกว่าเป็นแผนกที่มีงานเยอะก็ได้ หรือจะบอกว่าเป็นแผนกที่ไม่มีงานเป็นของตัวเองเลยก็ได้เหมือนกัน เพราะตามใดที่ระบบมันยังรันไปได้ QA ก็ยังถือว่าทำหน้าที่ของตัวเองได้สมบูรณ์ แต่ระบบมันจะเป็นยังไงมันขึ้นกับการ Operation ของแผนกอื่นๆไง แถมเนื้องานของ QA แต่ละโรงงานไม่เหมือนกันสักกะที่ บางที่งานอะไรก็ตามที่ไม่มีเจ้าภาพชัดเจน เป็นงานรอยต่อ/เติมเต็ม หรือคิดไม่ออกแผนกไหนควรรับผิดชอบดี QA ก็มักจะเหมาไปหมด 55555555

พูดถึงความก้าวหน้า อย่างที่บอกไปก่อนหน้านี้ว่า QA มีบทบาทขึ้นมากกว่าแต่ก่อนมาก แถมยังมีโอกาสไปถึง Plant Manager จากที่แต่ก่อน Production มักจะผูกขาดตำแหน่งนี้มาตลอด เพราะ Plant Manager มักต้องวางแผน แก้ปัญหา และบริหารทรัพยากรหลายอย่าง ซึ่งเป็นงานถนัดฝั่งผลิตอยู่แล้ว แต่ด้วยความที่หลังๆมา QA มันเหมือนคอยคุมทั้งผลิต และ QC อีกที คือไม่ได้คุมแบบเหนือกว่าขนาดเป็นหัวหน้าเลย แต่เป็นเหมือนคนที่คอยตรวจสอบ ช่วยเหลือ และร่วมแก้ปัญหางานอีกชั้นนึง คือนึกภาพง่ายๆ QA ต้องเป็นคนปล่อยผ่านยาแน่ๆอยู่ละ แล้วคนปล่อยก็ต้องรับผิดชอบอยู่ละ ยังไงคนรับผิดชอบก็ต้องมีอำนาจในการตัดสินใจสูงกว่า พอนึกภาพออกไหม QA ก็เลยมีไปถึง Plant Manager มากขึ้น เพราะมักต้องเป็นคนรับผิดชอบหลักของผลรวมและระบบต่างๆอยู่แล้ว แต่เอาจริงๆนะ ตำแหน่ง Plant Manager หลายๆที่ยังเป็นตำแหน่งการเมืองซะมากกว่าอยู่นะ บางที่ Plant Manager เหมือนหัวหน้าช่างซะมากกว่า 555555555

ข้อดีของสายงาน QA อีกอย่าง คือย้ายข้ามอุตสาหกรรมค่อนข้างง่าย เพราะไม่ว่าอุตสาหกรรมไหนๆก็ต้องมีการดูระบบคุณภาพอยู่แล้ว แล้วหลายๆที่เค้าก็ต้องการ know how ทางเภสัชเป็นพื้นฐาน อย่างตอนนี้ตำแหน่ง QA Manager ของทางฝั่งเครื่องมือแพทย์ที่เค้าอยากได้เภสัชเยอะมาก หลายที่ แต่หาคนไม่ค่อยได้ คือต้องเข้าใจว่า ที่หาไม่ได้ส่วนนึงเพราะเค้าอยากได้เภสัชที่มีประสบการณ์เครื่องมือแพทย์ด้วย แล้วเอามาเป็น QA Manager เลย แต่เภสัชที่มีประสบการณ์เครื่องมือแพทย์มันไม่ค่อยมีไง เพราะบริษัทเครื่องมือแพทย์มักรับเภสัชแต่ในตำแหน่งหัวหน้างาน ตำแหน่งธรรมดาๆมันไม่ค่อยมี หรือมีก็ให้เงินเดือนน้อยกว่าทางฝั่งอุตสาหกรรมยามาก เลยหาระดับหัวหน้างานที่มีประสบการณ์ไม่ค่อยได้

พูดถึงเงินเดือน พี่ว่าสายนี้เป็นอีกสายที่เงินเดือนค่อนข้างเหวี่ยงมาก เพราะด้วยความลักษณะงานและขอบเขตความรับผิดชอบค่อนข้างหลากหลาย และไม่เหมือนกันในแต่ละที่ด้วยแหละ (ลองนึกภาพ แค่ QA ดูแลบ กับดูผลิต เนื้องานก็ไม่เหมือนกันอย่างกับอยู่กันคนละแผนกละ) แล้วก็ใช้ความสามารถ ใช้ skill set ต่างกันมาก พี่ว่าการเป็น QA เฉยๆอ่ะ ไม่ยาก ถ้าหน้างานทำงานได้ ก็เหมือนจะไม่มีอะไรเลย แต่การเป็น QA ที่ดีนั้นยากมากกกกกกกก ถึงยากโครตๆ ต้องใช้ความรู้ความเข้าใจและทักษะหลากหลายและลึกซึ้งมาก แล้วต้องรู้ทั้งทฤษฎี ปฏิบัติ ข้อบังคับ และข้อกฏหมายเยอะแยะมาก สายงานนี้เงินเดือนเลยค่อนข้างเหวี่ยง คือมีตั้งแต่ 25-50K ไปจนถึง 100-200K แต่ส่วนใหญ่อยู่กันราวๆ 30-90K ส่วนระดับ Manager เงินเดือน QA manager มักสูงกว่า QC Manager นะ แต่ก็บอกยาก เพราะโดยเฉลี่ยแล้ว QC Manager มักอายุน้อยกว่า ประสบการณ์น้อยกว่าซะเป็นส่วนใหญ่

สายงานทะเบียน

สายงานนี้ เป็นสายงานที่ช่วง 5 ปีนี้หลังนี้มาแรงมาก คือนับตั้งแต่ที่ อย. ประกาศว่าทะเบียนยามีวันหมดอายุ ต้องต่ออายุปี 67 69 71 สายงานทะเบียนก็เติบโตขึ้นมาก ทั้งในแง่ของจำนวนคน และเงินเดือน พี่ว่าช่วง 5 ปี มานี้ สายงานทะเบียนอัพค่าตัวกันได้เร็วมากนะ แต่ก่อนหลายๆที่ไม่มีทะเบียนด้วยซ้ำ เอาเภสัชแผนกอื่นๆนั่นแหละมาทำทะเบียน (ซึ่งเกิน 70% เป็น QC) แต่เดี๋ยวนี้แทบไม่มีที่ไหนไม่มีแผนกทะเบียน อย่างน้อยๆก็มีสัก 1 คน หรือถ้าไม่มีเภสัชทะเบียน ก็แต่งตั้งใครสักคนมาดูทะเบียนโดยตรง ไม่ได้เป็นงานยิบย่อย โผล่มาเป็น jobๆ แบบสมัยก่อน

จะว่าไปสายงานทะเบียน เป็นสายงานที่วัดผลกันง่าย จะว่าวัดผลกันคล้ายๆเซลล์เลยก็ว่าได้ คือถ้าได้ทะเบียนมา ยื่นแก้ไขหรือได้มาซึ่ง something สักอย่างสำเร็จ ก็คือสำเร็จ และแน่นอนว่าการได้มาซึ่งทะเบียนหรือผลที่ต้องการ แม้แต่การรักษาทะเบียนไว้ได้ เป็นการนำรายได้มาซึ่งองค์กรอย่างไม่ต้องสงสัย หลายๆที่เลี้ยงทะเบียนกันแบบเซลล์ด้วยซ้ำ คือ ถ้าทำงานนี้สำเร็จ มีเงินจ่ายให้เท่านี้ๆ คล้ายๆค่าคอมของเซลล์เลย

ถามว่ามันมีผลมากขนาดไหน ดูอย่างยา diphenhydramine ของ Mega ก็ได้ครับ แต่ก่อนเป็นแค่ยาแก้แพ้ราคาถูกๆ แต่พอปรับรูปลักษณ์ไปเป็นเรื่องช่วยนอนหลับ จากยาแผงละไม่ถึง 10 บาท ขึ้นเป็นกล่องซะ 100 ได้ มูลค่าเพิ่มเกิน 10 เท่า

พอมันวัดผลง่าย เห็นผลชัดเจน ผู้ประกอบจึงมักพร้อมลงทุนกับเรื่องทะเบียน เป็นสาเหตุให้สายงานทะเบียนเติบโตขึ้นอย่างมากในช่วงระยะเวลาที่ผ่านมา อย่างไรก็ตามยาในเมืองไทย ส่วนใหญ่เกิน 70% ยังเป็นยา old generics with conventional dosage form ธรรมดา ซึ่ง part ที่ใหญ่ที่สุดของทะเบียนยาพวกนี้คือ Part Quality และคนทำผล Part Quality ให้ทะเบียนก็คือ QC เพราะฉะนั้นถ้าลงทุนกับทะเบียนอย่างเดียว แต่ไม่ลงทุนกับ QC ทะเบียนมันก็ไม่ออก เพราะมันไปคอขวดที่ QC ทะเบียนก็ไม่มีผลไปยื่นอยู่ดี

ทีนี้มาพูดถึงรายได้ ต้องเข้าใจก่อนว่างานทะเบียน มันมีหลายระดับ แต่ถ้าให้แบ่งหลักๆเลยคือ คนทำทะเบียนจะมี 2 แบบ คือทำทะเบียนที่ผลิตในประเทศ กับคนทำทะเบียนยานำเข้า ซึ่งลักษณะงานค่อนข้างแตกต่างกัน

คนทำทะเบียนที่ผลิตในประเทศ งานหลักมักเป็นเรื่องยื่นแก้ไขทะเบียน และรักษาทะเบียน ส่วนผล/รายงานที่นำไปยื่น ก็มักมี ผลิต QC RD Support ข้อมูลให้หมด เงินเดือนก็จะเรทนึง บางที่มีขึ้นทะเบียนยาใหม่เยอะ ก็จะอีกเรทนึง หรือบางที่มียาส่งออกนอกเยอะ ต้องทำทะเบียนส่งออกด้วย ก็จะอีกเรทนึง

ในขณะที่คนทำทะเบียนยานำเข้า มักต้องทำพวกงาน QA (รวมทั้ง GDP ด้วย) และ PV (Pharmacovigilance) ด้วย (แต่ถ้าเป็นบริษัทใหญ่ๆอย่าง novartis ก็มีคนทำงาน QA แยกเฉพาะต่างหากให้ แต่ถ้าไม่มีทะเบียนคือ everything) เนื้องานก็จะหนักไปทางขอทะเบียนยานำเข้า + GMP clearance ข้อมูลต่างๆก็ไม่ได้มีคนเสริฟให้เหมือนผู้ผลิตในประเทศ ต้องไปไล่ล่า contact เอาเองจากต่างประเทศ แน่นอนว่าภาษาก็ต้องดีระดับนึงด้วย เงินเดือนก็อีกเรทนึง (แต่ถ้าเป็นบริษัทที่นำเข้ายาจากบริษัทแม่ ก็มีบริษัทแม่คอย support ข้อมูลให้ แต่บริษัทพวกนี้มักเป็นยาใหม่ๆ ไฮเทคๆ พวกนี้ข้อมูลเยอะ part clinical โหด ไม่ได้สบายกว่าเท่าไรหรอก 5555555)

ในประเด็นเรื่องความก้าวหน้า น่าจะมองภาพออกแล้วนะครับ ทะเบียนจะมีความสำคัญขนาดไหนขึ้นกับมุมมองขององค์กรนั้นๆ

นอกจากประเด็นเรื่องลักษณะงานแล้ว หน้าที่ที่ต้องทำก็มีผลต่อเงินเดือนความหน้าเหมือนกัน พี่ขอแบ่งทะเบียนเป็นหลายๆระดับดังนี้

  • ระดับแรก ทำงานแค่ไปยื่นเอกสารให้ อย. เฉยๆ อาจเป็นตัวกลางคอยสื่อสารระหว่าง อย. กับบริษัทบ้าง พูดกันตามตรง ถ้าทะเบียนระดับนี้ บางที่เลือกจะไม่ใช้เภสัชด้วยซ้ำ เพราะงานทะเบียนกฏหมายไม่ได้บังคับว่าต้องเป็นเภสัช แต่ว่าเวลาไปยื่นทะเบียนที่ อย. แล้ว อย. ชอบถามว่าเป็นเภสัชหรือเปล่า (คือ อย. อยากคุยกับคนที่คุยด้วยกันรู้เรื่องหน่อย เพราะบางทีเอาคนไม่ได้จบเภสัช แล้ว อย. ขี้เกียจคุยด้วย คุยกันไม่ค่อยรู้เรื่อง) หลายๆที่เลยตัดปัญหาโดยการจ้างเภสัชให้มันจบๆไป ถ้าทำงานระดับนี้ ถ้าเป็นทะเบียนยาในประเทศ เงินเดือนอยู่ราวๆ 20-35K ถ้ายื่นทะเบียนยานอก ก็ราวๆ 30-50K
  • ระดับสอง นอกจากยื่นเองในระดับแรกแล้ว ยังต้องเตรียมเอกสารบางส่วนเองด้วย ต้องติดต่อประสาน รวมถึงวางแผนกำหนด timeline ต่างๆ เพื่อให้ได้ข้อมูลมายื่นตามแผนที่ฝ่ายบริหารวางไว้ได้ทันเวลา ทะเบียนระดับนี้ ถ้ายื่นทะเบียนในประเทศ เงินเดือนอยู่ราวๆ 30-50K แต่ถ้ายื่นทะเบียนนำเข้า หรือทะเบียนส่งออก ที่ต้องมีการติดต่อประสานกับต่างประเทศ ปรับเอกสารจากต่างประเทศให้เข้าข้อกำหนดของบ้านเรา หรือเอาเอกสารบ้านเราไปให้เข้ากับข้อกำหนดของต่างประเทศด้วย พวกนี้เงินเดือนจะสูงมาหน่อย อยู่ราวๆ 35-60K ทั้งนี้ ขึ้นกับ option ด้วย บางบริษัทใช้ทะเบียนทำงานการตลาดเป็นเหมือน Product Manager ด้วย บางบริษัทใช้ทะเบียนทำงาน QA/PV ด้วย (โดยเฉพาะบริษัทนำเข้า) เงินเดือนก็มัก ++ ไปอีก นิดๆหน่อยๆ ตามแต่ลักษณะงาน
  • ระดับ 2.5 ทะเบียนระดับนี้ ดูลักษณะงานแล้วผิวเผินเหมือนระดับ 2 แต่พวกนี้มีความสามารถพิเศษ คือมีทักษะการล็อบบี้ยีส พวกนี้มักทำงานมานาน และมีสายสัมพันธ์ที่ดีกับ อย. รู้ใจว่า อย. คนไหนชอบอะไร หรือเรื่องไหน ต้องเข้าหาพี่คนไหน คนทำงานทะเบียนที่มีทักษะพิเศษแบบนี้บางคนเก่งขนาดเล่นมายากลได้ เช่น เอา safety alert ออกจากเว็บ อย. ได้ (เป็นเหตุการณ์นานแล้วในอดีต เดี๋ยวนี้อาจจะทำไม่ได้แล้ว หวังว่านะ 5555 คือเดี๋ยวนี้แนวคิดมันเปลี่ยนไปด้วยแหละ แต่ก่อนเรามองว่าเป็นเรื่องการเสื่อมเสียชื่อเสียง แต่เดี๋ยวนี้กลายเป็นเรื่องความรับผิดชอบต่อสังคม มุมมองมันเปลี่ยนไป) คนทำงานทะเบียนระดับนี้ มักได้เงินเดือนสูงมากเป็นพิเศษ และเจ้าของมักอยากเก็บไว้อย่างน้อยสักคน เงินเดือนอยู่ที่ราวๆ 70-150K
  • ระดับสาม ระดับ Manager ทะเบียนในระดับนี้ หายากมาก และขาดหนักมาก โดยเฉพาะบริษัทยานำเข้า เพราะคนทำงานทะเบียนที่มีประสบการณ์นานพอจะเป็น Manager ได้นั้นมีน้อยมาก เนื่องด้วยความที่แต่ก่อนมันมีคนทำงานทะเบียนโดยตรงน้อยด้วยแหละ งานทะเบียนพึ่งมาบูมกันช่วง 5-10 ปีที่ผ่านมานี้เอง แล้วคนเป็น RA Manager หลายคนไม่ได้ทำงานเอกสารโดยตรงแล้ว แต่ทำงานบริหารเชิงนโยบายซะมากกว่า (ซึ่งเครียด กดดัน และใช้ทักษะหลายด้านมากกว่าเดิมเยอะ) เท่าที่พี่เห็นประกาศรับสมัครมีตั้งแต่ 80-200K (เอาจริงๆ เมื่อประมาณ 3 ปีที่แล้ว พี่เคยเห็นบริษัทนึงรับ 300K ด้วยนะ)

สายงานทะเบียนเป็นสายงานที่ข้ามสายไปอุตสาหกรรมอื่นได้ค่อนข้างง่ายนะ อย่างอาหาร เครื่องสำอาง วัตถุอันตราย สมุนไพร เครื่องมือแพทย์ (เครื่องมือแพทย์น่าจะข้ามง่ายสุด ส่วนอันอื่น เค้าไม่ค่อยสู้ค่าตัวเภสัช คือเอาจริงๆถ้าไม่ใช่ยา เอกสารทะเบียนมันยังไม่ได้ซับซ้อนเท่าไร ไม่ต้องเป็นเภสัชทำเอกสารก็ได้ หรือบางจุดที่ซับซ้อนนิดหน่อย เช่น เครื่องสำอาง เค้าก็มี R&D ของเค้าเองอยู่ละ ตรงไหน Advance หน่อย ให้ R&D ทำให้ก็ได้ หรืออย่างอาหาร เค้าก็มีคนจบ food science ที่เรียนมาเรื่องอาหารโดยตรงอยู่แล้ว) น่าแปลกที่การทำเอกสารเรื่องทะเบียนแต่ละอุตสาหกรรม นี่คนละเรื่องเลยนะ ไม่เหมือนกันเลย แต่ที่ข้ามกันได้ พี่มองว่า น่าจะเป็นเพราะ งานทะเบียนดูผิวเผินเหมือนงานเอกสารก็จริง แต่ skill set ที่ใช้ เป็น skill ที่คล้ายๆคนทำงานการตลาดเลยนะ ซึ่งหลายอย่างมันต้องค่อยๆสั่งสม ใช้ประสบการณ์ ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง connection เรื่องความเข้าใจระบบงานและการเมืองภายใน อย. อะไรพวกนี้

สายงาน R&D

สายงาน R&D พี่ไม่เคยทำ แถมเป็นสายงานที่ indy และมี diversity สูงมาก เพราะฉะนั้นพี่ไม่ขอพูดถึงครับ


Share this:

Posted in สายงานเภสัช.

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *