เรียนเภสัชต่างประเทศ แล้วจะมาเป็นเภสัชกรที่ไทยได้ไหม

ช่วงนี้เปิด AEC แล้ว ไปเรียนเภสัชในอาเซียนแล้วจะกลับมาทำงานที่เมืองไทยได้หรือเปล่านะ ?

เห็นช่วงนี้มีมหาวิทยาลัยที่จีนเปิดรับสมัครเภสัช ถ้าไปเรียนแล้วกลับมาทำงานที่ไทยจะมีปัญหาหรือเปล่า ?

พ่ออยากให้เรียนที่ USA แต่ก็กลัวว่ากลับมาทำงานที่เมืองไทยจะมีปัญหา ?

หลากหลายข้อสงสัย กังวล ปนความไม่แน่ใจว่า หากจบเภสัชศาสตร์ที่ต่างประเทศ ขึ้นทะเบียนเป็นผู้ประกอบวิชาชีพเภสัชกรรมที่ประเทศนั้นเรียบร้อย แล้วจะมาทำงานที่ไทย เป็นไปได้ไหม ต้องทำอย่างไรบ้าง จะมีปัญหาตรงไหนหรือเปล่า บทความนี้จะช่วยตอบข้อสงสัยนี้ในใจของหลายๆคนได้ครับ

เรียนเภสัชต่างประเทศ แล้วจะมาเป็นเภสัชกรที่ไทย ต้องทำอย่างไรบ้าง

กฏหมายได้ให้อำนาจเภสัชกรในการปฏิบัติงานบางอย่างที่ไม่อนุญาตให้คนทั่วไปทำได้ ดังนั้นเภสัชกรจึงต้องถูกควบคุมด้วยกฏหมาย เพื่อให้มั่นใจว่าคนที่จะเป็นเภสัชกรได้ มีความรู้ ความชำนาญ ในเรื่องที่กฏหมายได้ให้อำนาจไว้อยู่จริงๆ ทีนี้ พอมันเป็นกฏหมาย มันก็เป็นเรื่องของประเทศใครประเทศมัน สมมติน้องเรียนจบที่จีน ฟิลิปปินส์ หรืออเมริกา น้องก็สามารถไปขอขึ้นทะเบียนเป็นผู้ประกอบวิชาชีพเภสัชกรรมที่ประเทศนั้นได้ แต่ถ้าหากน้องอยากขึ้นทะเบียนเป็นผู้ประกอบวิชาชีพเภสัชกรรมที่ประเทศอื่นๆนอกเหนือจากนั้น น้องก็ต้องปฏิบัติตามกฏ ระเบียบ และข้อบังคับของประเทศนั้นๆ ซึ่งก็จะแตกต่างกันออกไป

ถ้าหากน้องจบการศึกษามาจากมหาวิทยาลัยที่ต่างประเทศ แล้วน้องอยากขอขึ้นทะเบียนเป็นผู้ประกอบวิชาชีพเภสัชกรรมที่ประเทศไทย น้องสามารถทำได้ ซึ่งที่ผ่านมาก็เคยมีคนทำมาแล้วหลายคน แต่ก็ไม่ใช่ทุกคนที่ทำสำเร็จนะครับ วิธีการคือให้น้องติดต่อสภาเภสัชกรรมแล้วยื่นขอรับรองปริญญาเพื่อขอเป็นสมาชิกสภาเภสัชกรรมและขอทดสอบความรู้เพื่อขอขึ้นทะเบียนเป็นผู้ประกอบวิชาชีพเภสัชกรรม จากนั้นสภาเภสัชกรรมจะพิจารณารายละเอียดหลักสูตรที่น้องเรียนจบมา เทียบกับเกณฑ์มาตรฐานและโครงสร้างหลักสูตรของผู้ประกอบวิชาชีพเภสัชกรรมในประเทศไทย หากพบว่าหลักสูตรแตกต่างกันมาก สภาเภสัชกรรมอาจมีมติไม่รับรองปริญญา แต่ส่วนใหญ่แล้วสภาเภสัชกรรมจะชี้แจงในรายละเอียดว่าต้องไปเรียนเพิ่มตรงไหนบ้าง ต้องฝึกงานเพิ่มกี่ชั่วโมง เป็นต้น

พี่ขอยกตัวอย่างเป็นกรณีศึกษาสักคนนึงแล้วกันนะครับ

1

2

file_1873-%e0%b8%9b%e0%b8%a3%e0%b8%b0%e0%b8%81%e0%b8%b2%e0%b8%a8%e0%b8%aa%e0%b8%a0%e0%b8%b2%e0%b8%af_2558-12_%e0%b8%a3%e0%b8%b1%e0%b8%9a%e0%b8%a3%e0%b8%ad%e0%b8%87%e0%b8%9b%e0%b8%a3%e0%b8%b4%e0%b8%8d

จากกรณีนี้ จะเห็นได้ว่า ผู้ยื่นขอรับรองปริญญาเพื่อขอเป็นสมาชิกสภาเภสัชกรรมและขอทดสอบความรู้เพื่อขอขึ้นทะเบียนเป็นผู้ประกอบวิชาชีพเภสัชกรรม จบเภสัชศาสตรบัณฑิตมาจากมหาวิทยาลัยในอินโดนีเซีย หลังจากคณะกรรมการสภาเภสัชกรรมพิจารณาแล้ว มีมติว่า

  • ให้ผู้ยื่นต้องลงเรียนในรายวิชาศึกษาทั่วไปอีกอย่างน้อย 8 หน่วยกิต
  • เรียนรายวิชาชีพด้านเภสัชศาสตร์อีกไม่ต่ำกว่า 25 หน่วยกิต
  • เรียนรายวิชาเฉพาะสาขา (จำนวนหน่วยกิตที่ต้องเรียนเพิ่มเติมขึ้นอยู่กับสาขาที่เลือก)
  • เรียนวิชาเลือกเสรีอีก 6 หน่วยกิต
  • ฝึกงานภาคบังคับ 400 ชั่วโมง
  • ฝึกงานเฉพาะสาขาอีก 1,600 ชั่วโมง

สำหรับในส่วนนี้ เบื้องต้นก็จะมีค่าคําขอรับรองปริญญาของผู้สําเร็จการศึกษาเภสัชศาสตร์จากสถาบันการศึกษาในต่างประเทศหากเป็นคนไทย 20,000 บาท หากเป็นชาวต่างชาติ 50,000 บาทครับ แล้วก็จะมีค่าธรรมเนียมการฝึกปฏิบัติงานวิชาชีพของผู้สําเร็จการศึกษาจากต่างประเทศ ถ้าพี่จำไม่ผิด 2,000 ชั่วโมงจะอยู่ 40,000 บาทครับ พวกตัวเลขค่าใช้จ่ายพวกนี้มันเปลี่ยนไปเรื่อยๆ ถ้าให้ชัวสุดเลยก็คือต้องติดต่อสภาเภสัชกรรมโดยตรงครับ

สำหรับมหาวิทยาลัยที่จะถูกส่งไปเรียนเพิ่มนั้น สภาเภสัชกรรมจะมีหนังสือแนะนำตัวให้ผู้ขอรับรองปริญญานำไปติดต่อคณะเภสัชศาสตร์และแหล่งฝึกปฏิบัติงานในประเทศไทย เพื่อขอเข้าศึกษาเพิ่มเติมหรือฝึกปฏิบัติงานเพิ่มเติม พอถึงตรงนี้พี่ไม่แน่ใจว่า คณะเภสัชศาสตร์ในประเทศไทยที่น้องต้องไปศึกษาเพิ่มเติมนั้นสภาเภสัชกรรมหาให้ หรือ น้องต้องนำหนังสือฯไปติดต่อที่คณะเภสัชศาสตร์นั้นๆ พอเค้ารับเรื่องแล้วน้องจึงไปแจ้งกับสภาเภสัชกรรม (แต่พี่ว่าน่าจะเป็นแบบหลังมากกว่า) จริงๆตอนสมัยพี่เรียนก็เคยมีพี่คนนึงแกจบมาจากจีนแล้วต้องมาศึกษาเพิ่มที่คณะเหมือนกัน แต่พอทีพี่ทักแชทแกไปแล้วแกไม่ตอบพี่อ่ะครับ (= =”) พี่ก็เลยไม่รู้ว่าในขั้นตอนนี้จริงๆแล้วต้องทำยังไงบ้าง

หลังจากน้องเรียนเพิ่มเติมพร้อมกับฝึกงานตามมติของคณะกรรมการเภสัชกรรมครบแล้ว น้องก็สามารถขอทดสอบความรู้เพื่อขอขึ้นทะเบียนเป็นผู้ประกอบวิชาชีพเภสัชกรรมเหมือนกับนักศึกษาคนอื่นที่จบในประเทศครับ การสอบและข้อสอบก็จะเหมือนนักศึกษาที่จบในประเทศทุกอย่าง ตรงนี้เป็นปัญหาสำหรับชาวต่างชาติที่ต้องการมาขึ้นทะเบียนเป็นเภสัชกรในไทยมาก เพราะข้อสอบก็ต้องสอบด้วยภาษาไทยเท่านั้น ซึ่งเท่าที่พี่จำได้ ยังไม่เคยมีเภสัชกรที่เป็นชาวต่างชาติคนไหนมาขึ้นทะเบียนเป็นเภสัชกรที่ไทยได้สำเร็จเลย

สำหรับรายละเอียดขั้นตอนการขอรับรองปริญญาของผู้สำเร็จการศึกษาจากต่างประเทศ มีดังนี้ครับ (สำหรับใครที่ iframe ไม่ขึ้นหรือขึ้นแต่มาไม่ครบสามารถอ่านได้ใน http://pharmacycouncil.org/share/file/file_1595.Process__ACC-PY.pdf)

ศึกษาหลักสูตรดีๆก่อน

หากวางแผนจะกลับมาเป็นเภสัชกรที่ประเทศไทย ก่อนไปเรียนต้องดูหลักสูตรและสถาบันที่สอนก่อนนิดนึงนะครับ  สภาเภสัชกรรมมีข้อกำหนดอยู่ว่า “ปริญญาของสถาบันในต่างประเทศสถาบันใดที่สภาเภสัชกรรมให้การรับรองภายในเวลาไม่เกิน 5 ปี ให้สภาเภสัชกรรมขึ้นทะเบียนไว้  เพื่อใช้อ้างอิงต่อไปและเมื่อปริญญาได้ผ่านการรับรองมาแล้วเกิน 5 ปี หรือเมื่อสถาบันการศึกษาดังกล่าวมีการปรับหลักสูตรการศึกษา หรือสภาเภสัชกรรมมีการประกาศปรับหรือเพิ่มเติมเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับการรับรองปริญญา ต้องเสนอขอรับรองปริญญาต่อสภาเภสัชกรรมใหม่” ซึ่งน้องสามารถไปศึกษาดูได้ว่า สถาบันในต่างประเทศสถาบันใดที่สภาเภสัชกรรมเคยให้การรับรองไปแล้วบ้าง รายชื่อ-สภาเภสัชกรรม-รับรอง-ต่างประเทศ

รูปนี้ดูเล่นๆได้ แต่เอาไปอ้างอิงไม่ได้นะครับ เพราะปีนี้ก็ปี 2559 แล้ว ปีหน้าข้อมูลนี้ก็ใช้ไม่ได้แล้ว หรือหากสถาบันเหล่านั้นมีการปรับปรุงหลักสูตรใหม่ก็ใช้ไม่ได้แล้วเหมือนกัน นอกจากนี้ยังมีประกาศสภาเภสัชกรรมที่ 43/2558 ซึ่งมีใจความสำคัญว่า “สภาเภสัชกรรมจะให้การรับรองปริญญาของผู้สำเร็จการศึกษาเภสัชศาสตร์จากสถาบันการศึกษาในต่างประเทศ เฉพาะหลักสูตรเภสัชศาสตรบัณฑิตที่มีมาตรฐานเทียบเท่าหลักสูตร 6 ปี ของประเทศไทย (นับรวม pre-pharmacy และฝึกงาน) โดยให้มีผลบังคับใช้สำหรับผู้ที่เริ่มไปศึกษาเภสัชศาสตรบัณฑิตที่ต่างประเทศตั้งแต่ปี 2559 เป็นต้นไป หากศึกษาในหลักสูตรที่มีระยะเวลาการศึกษาน้อยกว่า 6 ปี สภาเภสัชกรรมจะไม่รับพิจารณาการขอรับรองปริญญาทางเภสัชศาสตร์สำหรับผู้สำเร็จการศึกษาตามหลักสูตรดังกล่าว”

หมายเหตุ คำว่านับนับรวม pre-pharmacy และฝึกงาน พี่เข้าใจว่าคณะเภสัชศาสตร์บางประเทศเรียน 5 ปี แต่มีการเรียน pre-pharmacy ก่อน 1 ปี สภาเภสัชกรรมก็จะนับให้เป็น 6 ปี หรือเรียน 4 ปี แต่มีฝึกงานอีก 2 ปี ก็นับเป็นเทียบเท่า 6 ปี เหมือนกัน แต่พี่ไม่ชัวร์นะครับ เรื่องแบบนี้ ถามสภาเภสัชกรรมเลยจะชัวร์ที่สุดครับ

อ่านเพิ่มเติมได้ใน ประกาศสภาเภสัชกรรมที่ ๔๓/๒๕๕๘


Share this:

Posted in บทความ.

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *