เภสัชกรกับการโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพ

พอดี พี่เขียนเพิ่มเติมไว้ที่บทความนี้ อยากให้อ่านด้วยครับ โฆษณายา แบบไหนทำได้/ไม่ได้

ช่วงนี้เราอาจจะเห็นแพทย์ ทันตแพทย์ เภสัชกร หรือพยาบาล ออกมาโฆษณาสถานพยาบาล ยาสีฟัน อาหารเสริม เครื่องสำอาง รวมไปถึงพวกครีมต่างๆ

ถามว่าผิดไหม? ตอบ ผิดครับ ในส่วนของเภสัชกรนั้นหากพบเห็นก็สามารถแจ้งสภาเภสัชกรรมได้เลย

ไม่ว่าจะเป็นแพทย์ ทันตแพทย์ เภสัชกร หรือพยาบาล ข้อบังคับว่าด้วยจรรยาบรรณวิชาชีพเขียนไว้เหมือนกันหมดว่าห้ามแสดงตนเพื่อกระทำการโฆษณาการประกอบวิชาชีพ ส่งเสริมหรือสนับสนุน ผลิตภัณฑ์ใดผลิตภัณฑ์หนึ่ง

อย่างไรก็ตาม มันก็พอมีข้อยกเว้นอยู่บ้าง อย่างถ้าจะโฆษณาสินค้าพวกยา สามารถทำได้ แต่ต้องกระทำกับผู้ประกอบวิชาชีพด้านสุขภาพด้วยกันเท่านั้น แล้วก็จะมีรายละเอียดปลีกย่อยในเนื้อหาลงไปอีก

  1. อ้าวก็เห็นมีคนใส่เสื้อกราวน์ รีวิวครีมออกโฆษณาอยู่นิ ออกทีวีด้วย ไม่เห็นเป็นไรเลย ?

ตอบ ลองสังเกตุดูนะครับ พวกโฆษณาพวกนี้ จะไม่ใช้คำว่า หมอ ไม่ใช้คำว่า เภสัช แต่ใช้คำว่า จากผู้เชี่ยวชาญแทน เช่น โดยผู้เชี่ยวชาญด้านผิวหนัง ซึ่งผู้เชี่ยวชาญด้านผิวหนังไม่มีนิยามเอาไว้ ใครจะอ้างตัวเองเป็นผู้เชี่ยวชาญก็ได้ทั้งนั้นแหละ แต่เค้าใส่เสื้อกราวน์ ให้ดูน่าเชื่อถือ ทำให้คนดูเข้าใจไปเองว่าเป็นหมอหรือเภสัช

2. แล้วยาสีฟันที่บอกว่ารับรองโดยทันตแพทย์ละ ?

ตอบ เค้าใช้ทันตแพทย์จากต่างประเทศครับ ทันตแพทยสภาไทยทำอะไรไม่ได้อยู่แล้ว

3. แล้วพวกครีมในเน็ตที่บอกว่าทำโดยเภสัชกรละ ?

ตอบ อันนี้พี่เห็นอยู่ 2 แบบ แบบแรกคือเภสัชกรเป็นคนคิดสูตรให้ ทำ R&D ให้ แต่คนขายไปโฆษณาว่า “โดยเภสัชกร” อันนี้น่าจะเข้าข่ายหลอกลวงหรือทำให้เข้าใจผิด กับอีกแบบคือเภสัชกรคนนั้นทำครีมขายเอง แล้วมีการโฆษณาหรือแสดงตัวว่าเป็นเภสัชกรแล้วโอ้อวดว่าครีมมันดีแบบนี้นะ แบบนี้ผิด พ.ร.บ.วิชาชีพ ครับ (แต่ถ้าไม่มีการแสดงตัวว่าเป็นเภสัชกร แบบนี้ก็ไม่ผิดอะไรนะครับ)

เพราะฉะนั้นเรื่องแบบนี้ เป็นเรื่องที่น้องๆ นศ.ภ. รวมถึงเภสัชกรทุกคนต้องระวังนะครับ อย่าให้ใครเค้ามาใช้ประโยชน์จากความน่าเชื่อถือของเราได้

ข้อบังคับสภาเภสัชกรรม ว่าด้วยจรรยาบรรณแห่งวิชาชีพเภสัชกรรม (ฉบับที่ ๒) พ. ศ. ๒๕๔๖ ระบุไว้ชัดเจนนะครับ ว่า “ผู้ประกอบวิชาชีพที่เป็นผู้ให้ความรู้เรื่องยาและผลิตภัณฑ์สุขภาพ ในลักษณะต่าง ๆ และโดยสื่อต่าง ๆ ต้องพึงระวังมิให้การกระทำดังกล่าวของตน หรือให้ผู้อื่นนำการกระทำดังกล่าวไปทำให้เข้าใจว่า ส่งเสริมหรือสนับสนุน ผลิตภัณฑ์ใดผลิตภัณฑ์หนึ่งที่เกี่ยวกับเรื่องที่ให้ความรู้นั้น”

ถ้าใครสนใจเรื่องนี้ ลองอ่านเพิ่มเติมในบทความเหล่านี้ดูครับ
1. ผู้ประกอบวิชาชีพด้านสุขภาพโฆษณาความรู้ความสามารถของตน สถานที่ประกอบธุรกิจของตนหรือสถานที่ตนปฏิบัติงาน ทำได้หรือไม่
2. การประยุกต์ใช้กฎหมายความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์กับการโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ผิดกฎหมายผ่านอินเตอร์เน็ต
3. เภสัชกรต้องโฆษณาสินค้าอย่างไรให้ถูกพักใช้ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ
4. สรุปข้อพึงระวังจรรยาบรรณวิชาชีพของเภสัชกร กรณีโฆษณาผลิตภัณฑ์ให้ธุรกิจเอกชน


Share this:

Posted in บทความ.

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *