อยากจะฝากเตือนน้องๆ ที่กำลังจะเข้าเรียนในคณะเภสัช ที่ยังไม่ผ่านการรับรอง

ตอนแรก พี่ว่าจะไม่พูดถึงเรื่องนี้ แต่ว่ามีน้องๆถามกันเข้ามามาก ส่วนตัวพี่ ไม่ห้าม หากน้องประสงค์จะเข้าเรียนในสถาบันที่ยังไม่ผ่านการรับรอง เพราะทุกคนก็มีเหตุผลหรือความจำเป็นที่แตกต่างกัน แต่พี่ขอชี้ให้เห็นถึงโอกาสและความเสี่ยงในการเข้าเรียนในสถาบันเหล่านี้ เพื่อให้น้องๆ ได้ใช้ประกอบการตัดสินใจ

ปริญญาเภสัชศาสตรบัณฑิตของคณะเภสัชศาสตร์ต่างๆ ที่สภาเภสัชกรรมให้การรับรองในปีการศึกษา 2561 จำนวน 19 สถาบัน สำหรับใครที่สงสัยว่ารับรองแบบมีเงื่อนไขคืออะไรไปอ่านได้ที่ >>>>>การรับรองแบบมีเงื่อนไขคืออะไร (เภสัช)

ในปีการศึกษา 2561 นี้ มีอยู่ 2 มหาลัย ที่เปิดคณะเภสัชศาสตร์ คือ

  1. มหาวิทยาลัยเวสเทิร์น
  2. มหาวิทยาลัยกรุงเทพธนบุรี

ซึ่งทั้ง 2 มหาวิทยาลัย ยังไม่ผ่านการรับรองจากสภาเภสัชกรรม น้องอาจแย้งว่าในปีนี้อาจจะรับรองผ่านก็ได้ เพราะประกาศของสภาปีนี้ยังไม่ออกมา แต่พี่จะบอกว่า สภาเภสัชจะออกประกาศการรับรองล่วงหน้าไว้ 1 ปี ก็คือ มหาวิทยาลัยที่รับรองในปี 2561 จะประกาศออกมาในปี 2560 นั่นหมายความว่า ประกาศในปี 2561 ได้ออกไปแล้ว (หรือหากมีการรับรองใหม่เกิดขึ้นในช่วงปี 2560 – 2561 สภาเภสัชกรรมจะประกาศแยกไว้เป็นกรณีๆไป ซึ่งแน่นอนว่าในปีนี้ไม่มี) และหากน้องเข้าศึกษาในสถาบันที่ยังไม่ผ่านการรับรองในปีการศึกษา 2561 นี้ น้องจะไม่มีสิทธิในการสอบใบประกอบวิชาชีพเภสัชกรรม แม้ว่ามหาลัยดังกล่าวจะผ่านการรับรองในปีถัดๆมาแล้วก็ตาม ยกตัวอย่างให้เข้าใจง่ายๆ เช่น

  • ปีการศึกษา 2561 มหาลัย ก ไม่ผ่านการรับรอง
  • ปีการศึกษา 2562 มหาลัย ก ผ่านการรับรองแบบมีเงื่อนไข
  • ปีการศึกษา 2563 มหาลัย ก ผ่านการรับรองแบบมีเงื่อนไข
  • ปีการศึกษา 2564 มหาลัย ก ไม่ผ่านการรับรอง

กรณีแบบนี้ นักศึกษาที่มีสิทธิสอบใบประกอบวิชาชีพเภสัชกรรมของมหาลัย ก คือ นักศึกษาที่เข้าศึกษาในปีการศึกษา 2562 และ 2563 เท่านั้น ปี 2561 กับ 2564 ไม่มีสิทธิ

อย่างไรก็ตาม ก็ไม่ใช่ว่าไม่มีวิธีแก้ปัญหาเลย เพราะที่ผ่านมาเคยเกิดเหตุการณ์เช่นนี้เป็นกรณีศึกษามาแล้ว นั่นคือในปี 2554 ม.บูรพา ไม่ผ่านการรับรอง แต่ในปี 2555 ม.บูรพา ผ่านการรับรอง ซึ่งในปีนั้น ม.บูรพา ได้แก้ปัญหาโดย รีรหัสนักศึกษาปี 54 มาเป็นนักศึกษาปี 55 แล้วเทียบโอนหน่วยกิตของเดิมที่เรียนมาแล้ว ทำให้ไม่ต้องเรียนปี 1 ใหม่ ดังนั้น หากน้องคิดว่าในปีถัดๆมามหาลัยจะผ่านการรับรองและใช้วิธีแก้ปัญหาแบบ ม.บูรพา ได้ ก็ไม่ว่ากัน

อีกหนึ่งทางออก คือ พ.ร.บ.อุดมศึกษา ตัวใหม่

เป็นที่น่าสังเกตุว่า เราไม่มีการเปิดคณะเภสัชศาสตร์เพิ่มมานาน แต่มาเปิดติดๆกันในปีนี้ 2 มหาวิทยาลัย ซึ่งประจวบเหมาะกับช่วงนี้ มีเหตุการณ์หลายๆอย่างที่กำลังเกิดขึ้นคือ

  1. เป็นช่วงที่กำลังมีการเลือกตั้งนายกสภาเภสัชกรรมคนใหม่ ทำให้ช่วงนี้เกิดสุญญากาศ ไม่มีคนดูแลเรื่องนี้อย่างจริงจัง (แต่ถ้ามองในแง่ดี ก็อาจมองได้ว่า ยื่นขอรับรองไปแล้ว แต่อยู่ในช่วงการเลือกตั้ง จึงไม่มีคนมาดูแลคำขอนี้ให้)
  2. เภสัชกรส่วนใหญ่ ยังโฟกัสกับ พ.ร.บ.ยาตัวใหม่ ทำให้ความสนใจเรื่องการเปิดคณะเภสัชใหม่ลดน้อยลงไป
  3. และสุดท้าย ที่น่าจะเป็นประเด็นที่มี impact มากที่สุด คือ พ.ร.บ.อุดมศึกษา ตัวใหม่

พ.ร.บ.อุดมศึกษา ตัวใหม่ มีใจความส่วนนึง สรุปได้ว่า “ห้ามมิให้มีอำนาจในการรับรอง หรือ กำหนดการจัดการเรียนการสอนในสาขาวิชาที่เกี่ยวข้องกับสภาวิชาชีพนั้นๆของสถาบันอุดมศึกษา” ดังนั้นหาก พ.ร.บ. ตัวนี้คลอดเมื่อไร ก็จะหมดปัญหาเรื่องการรับรองคณะของสภาวิชาชีพต่างๆ ไปวัดกันตอนสอบใบประกอบทีเดียวเลย อย่างไรก็ดี พ.ร.บ.ตัวนี้ มีการคัดค้านอย่างหนักจากสภาวิชาชีพต่างๆ จึงไม่แน่ว่า จะได้คลอดจริงหรือไม่ หรือมีการแก้ไขเนื้อหาในประเด็นนี้ก่อนหรือไม่ เพราะฉะนั้น ถ้าน้องคิดว่า พ.ร.บ.นี้มันมาแน่ๆ จะลองเสี่ยงดูก็ได้ แต่ถ้ามันไม่มาสิ่งที่น้องเสียคือเงินและเวลา ที่น้องเอากลับคืนมาไม่ได้นะ

เป็นที่น่าสังเกตุอีกว่า มีความพยายามอ้างอิงรัฐธรรมนูญมาตรา 40 คือ “บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการประกอบอาชีพ การจำกัดเสรีภาพตามวรรคหนึ่งจะกระทำมิได้ เว้นแต่โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่ตราขึ้นเพื่อรักษาความมั่นคงหรือเศรษฐกิจของประเทศ การแข่งขันอย่างเป็นธรรม การป้องกันหรือขจัดการกีดกันหรือการผูกขาด การคุ้มครองผู้บริโภค การจัดระเบียบ การประกอบอาชีพเพียงเท่าที่จำเป็น หรือเพื่อประโยชน์สาธารณะอย่างอื่น” ดังนั้นสภาวิชาชีพจึงไม่ควรมาจำกัดสิทธิผู้อื่น ให้ประกอบหรือไม่ประกอบอาชีพใด แต่ก็น่าสงสัยว่า ตอนที่อุดมศึกษากำลังอยู่ในช่วงขาขึ้นนั้น พวกท่านก็คัดกรองแต่เด็กเก่งๆ มีความสามารถไว้กับตัว แล้วทิ้งเด็กรองๆลงมาไว้ข้างหลัง ไม่เห็นพูดถึงเสรีภาพในการประกอบอาชีพเลย

เรื่อง พรบ.อุดมศึกษาตัวใหม่มีบทสรุปออกมาแล้วนะครับ ลองอ่านดูครับ https://www.tobepharmacist.com/%E0%B8%9A%E0%B8%97%E0%B8%84%E0%B8%A7%E0%B8%B2%E0%B8%A1/%E0%B9%80%E0%B8%A3%E0%B8%B5%E0%B8%A2%E0%B8%99%E0%B9%80%E0%B8%A0%E0%B8%AA%E0%B8%B1%E0%B8%8A-%E0%B8%A1-%E0%B9%84%E0%B8%A1%E0%B9%88%E0%B8%A3%E0%B8%B1%E0%B8%9A%E0%B8%A3%E0%B8%AD%E0%B8%87/

ในเมื่อสภาวิชาชีพไม่รับรอง ทำไมจึงยังเปิดคณะได้

น้องอาจสงสัยว่า ในเมื่อสภาวิชาชีพไม่รับรอง แล้วเปิดคณะมาได้อย่างไร ตรงนี้พี่ขอชี้แจงว่า เรื่องการเปิดคณะกับการรับรองโดยสภาวิชาชีพนั้น เป็นคนละเรื่องกัน การเปิดคณะเป็นอำนาจหน้าที่ของ สกอ. และสภามหาวิทยาลัยนั้น ไม่เกี่ยวกับสภาวิชาชีพแต่อย่างใด ดังนั้นจึงสามารถเปิดคณะได้ แม้ว่าสภาวิชาชีพจะยังไม่รับรอง อย่างไรก็ดี หากนึกถึงหลักมนุษยธรรมแล้ว ก็ไม่ควรรับเด็กไปก่อนหากยังไม่สามารถให้คำมั่นสัญญากับเด็กได้ว่า สามารถให้เค้าเหล่านั้น ได้ประกอบวิชาชีพได้อย่างสมบูรณ์อย่างที่เค้าฝัน

จริงอยู่ ที่ผ่านมาในช่วงปี 49 – 53 มีเหตุการณ์รับเด็กไปก่อน ขอรับรองทีหลัง หรือที่เรียกกันติดปากว่า เอาเด็กไปเป็นตัวประกัน แต่ช่วงนั้นเป็นช่วงรอยต่อที่ข้อบังคับของสภาเภสัชว่าด้วยการรับรองปริญญายังไม่ชัดเจน อีกทั้งยังเป็นช่วงรัฐประหาร ทำให้กฏหมายที่ไม่สำคัญจะถูกนำมาพิจารณาเป็นลำดับท้ายๆ จึงเกิดช่องว่างสุญญากาศในช่วงเวลาดังกล่าวให้สามารถรับเด็กไปก่อนได้ แต่ตอนนี้ข้อบังคับและกฏระเบียบต่างๆชัดเจนหมดแล้ว การรับเด็กไปก่อนจึงไม่ make sense เท่าไรนัก ก่อนหน้าที่ ม.ธรรมศาสตร์ ก็ทำให้เป็นบรรทัดฐานให้ดูไปก่อนหน้าตั้งแต่ปี 2556 แล้ว ไม่ใช่ว่ามอเปิดใหม่จะรับเด็กไปก่อนซะทุกมอ

สรุป

การศึกษาในมหาลัยที่ยังไม่ผ่านการรับรอง มองในแง่ของโอกาส มันคือการได้เข้าศึกษาในคณะเภสัชศาสตร์โดยไม่ต้องใช้คะแนนสอบสูงมากนัก แต่ความเสี่ยงของมันก็คือ อาจไม่สามารถสอบใบประกอบวิชาชีพเภสัชกรรม เพื่อเป็นเภสัชกรอย่างเต็มตัวได้ (แต่ก็มีโอกาสสอบได้ อย่างที่กล่าวไปแล้วข้างต้น) ถ้าให้เปรียบเทียบกับการซื้อหุ้น ก็เหมือนเราซื้อหุ้นในกิจการที่มีปัญหาในราคาถูก ถ้ากิจการนั้นสามารถแก้ปัญหา หรือมีนโยบาย/อำนาจรัฐมาช่วย กิจการนั้นก็จะฟื้น ทำให้น้องได้หุ้นมาในราคาถูกมาก แต่ถ้ามันไม่ฟื้น หุ้นตัวนั้นและเงินของน้องก็จะหายไปตลอดกาล อย่างไรก็ดี หากน้องเรียนจนจบจริงๆก็ไม่สูญเปล่าหรอกครับ เพราะน้องได้จะได้ปริญญาเภสัชศาสตรบัณฑิตมา เพียงแต่จะไม่สามารถสอบเพื่อขึ้นทะเบียนเป็นผู้ประกอบวิชาชีพเภสัชกรรม ซึ่งเอาจริงๆก็สามารถใช้ทำงานในสายงานที่ไม่ต้องใช้ใบประกอบได้ หรืออาจมองไปถึงการทำงานในต่างประเทศที่มีข้อกำหนดไม่เหมือนกับของไทยก็ได้

เคยมีอาจารย์ท่านนึงกล่าวไว้ว่า “ตลอดชีวิตที่ผ่านมา หากอยากรู้ว่า คนในวงการใด มีคุณธรรมมากน้อยเพียงใด ให้รอดูตอนวงการนั้นเข้าสู่ช่วงตะวันตกดิน หากคนในวงการนั้นมีคนที่ไร้คุณธรรมจำนวนมาก เราจะเห็นคนในวงการนั้น ทำตัวเสื่อมทราม เอาตัวรอด สนใจแต่ผลประโยชน์ของตนเองเป็นที่ตั้ง และจะปรากฏเป็นข่าวให้เห็นถึงความเสื่อมทรามนั้นไม่เว้นแต่ละวัน” สำหรับในประเทศไทย มหาวิทยาลัยและธุรกิจการศึกษาทั้งหมด กำลังเข้าสู่ช่วงตะวันตกดิน อันเนื่องมากจากเด็กที่ลดน้อยต่อเนื่องกันเป็นเวลานาน ช่วงเวลานี้ จึงเป็นช่วงวัดว่า คนในวงการนี้ มีคุณธรรมกันมากน้อยเพียงใด


Share this:

Posted in บทความ.

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *