ทำไมต้องเพิ่มค่าใช้ทุนแพทย์จาก 4 แสน เป็น 2.5 ล้าน และจะเกิดอะไรตามมาบ้าง

ขอนอกเรื่องเภสัช มาดูแวดวงหมอสักหน่อย พอดีมีข่าว ‘หมออุดม’ แจงค่าปรับแพทย์คิดจากต้นทุนจ่าย 2.5 ล. ไม่แพง

ถ้ายังจำกันได้ ก่อนหน้านี้เรามีข่าวว่า ปี 62 เราจะเพิ่มค่าใช้หนี้ทุนของแพทย์จาก 4 แสน เป็น 5 ล้าน ล่าสุดที่เป็นข่าวคือยอมลดเหลือ 2.5 ล้าน

ถามว่าจะเกิดอะไรขึ้น? ก่อนอื่นต้องเข้าใจปัญหาก่อน

ทุกวันนี้กำลังการผลิตหมออยู่ที่เท่าไร?

เมื่อสัก 10 กว่าปีที่แล้ว ราวปี 2545-2550 กำลังการผลิตหมออยู่ที่รุ่นละ 1,000 นิดๆ ถัดมาราวปี 2555 กำลังการผลิตก็อยู่ประมาณ 2,000 กว่า แต่กำลังการผลิตตอนนี้เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วไปอยู่ที่ 3,000 คนนิดๆต่อปีแล้ว แต่ถึงจะเพิ่มกำลังการผลิตยังไง หมอก็ยังไม่พอ

ก็เลยต้องมาทบทวนกันใหม่ว่า จริงๆแล้ว ปัญหามันเกิดจากผลิตไม่พอจริงหรือ?

ซึ่งพอมาดูกันจริงๆ เราก็พบว่า ที่มันไม่พอ ไม่ใช่เป็นเพราะเราผลิตไม่พอ แต่เป็นเพราะ

  1. แพทย์มีปัญหาเรื่องการกระจายตัว หมอไปกระจุกกันอยู่ในเมืองใหญ่ๆกันหมด
  2. รัฐไม่สามารถรักษาหมอในระบบไว้ได้ หมอไหลออกจากระบบทุกปีเหมือนแผลที่เลือดไหลไม่หยุด

การแก้ปัญหาข้อ 1 ที่เห็นจะเป็นรูปธรรมมากที่สุดก็คือโครงการหมอชนบทต่างๆ ที่พยายามให้เด็กในพื้นที่เรียนและกลับไปเป็นหมอในพื้นที่ของตนเอง อีกความพยายามนึงคือ การให้ค่าตอบแทนตามพื้นที่และผลงาน ซึ่งก็ช่วยได้ในระดับนึง แม้ว่าในทางปฏิบัติจะมีปัญหาเยอะมากก็ตาม แต่ก็ถือว่าช่วยบรรเทาปัญหาไปได้บ้าง

ส่วนข้อ 2 ทางแก้ที่ดีที่สุดคือสะสางระบบภายใน ให้คนที่เค้าอยู่ในระบบได้อยู่อย่างมีความสุข

แต่ในความเป็นจริง การแก้ปัญหาแบบนี้ เป็นไปได้ยากมาก

อย่าลืมว่าประเทศเราเป็นประเทศผู้สูงอายุเป็นเรียบร้อยแล้ว และกำลังจะเป็นสังคมผู้สูงอายุขั้นสุดในอีก 2-3 ปี ข้างหน้า หมายความว่าเราต้องการบุคลากรทางสาธารณสุข รวมทั้งค่ายาและเวชภัณฑ์เพิ่มขึ้นอย่างมหาศาล

แต่ในขณะเดียวกัน การที่เราเป็นสังคมผู้สูงอายุ ก็ทำให้การบริโภคในประเทศหดตัว ทำให้เศรษฐกิจค่อยๆซึมลง การหารายได้และการจัดเก็บภาษีของรัฐก็จะยากมากยิ่งขึ้น อัตราการเกิดน้อยทำให้แนวโน้มประชากรค่อยๆลดลง การเพิ่มตำแหน่งข้าราชการหรือกำลังคนภาครัฐจึงเป็นเรื่องที่ดูไม่สมเหตุสมผล

โอเค ตอนที่เรามีประชากร 73 ล้าน เรามีอัตรากำลังคนภาครัฐอยู่  2,841,259  คน (รวมข้าราชการ พนักงานราชการ ลูกจ้างประจำ ลูกจ้างชั่วคราว พนักงานมหาวิทยาลัย พนักงานกระทรวงสาธารณสุข และพนักงานช้าง) โดยในจำนวนนี้ 63.41% เป็นข้าราชการ ซึ่งก็ดูเป็นเรื่องที่สมเหตุสมผล แต่ในอีก 20 ข้างหน้า ประชากรเราจะเหลือ 55 ล้านคน เราจำเป็นที่จะต้องมีกำลังคนภาครัฐอยู่เกือบ 3 ล้านคนอีกหรือ? แน่นอนว่า ก.พ. ตอบว่า “ไม่” ดังนั้น ก.พ. จึงใช้นโยบาย zero growth มาตลอด แต่อะไรที่มันจำเป็นต้องมีเพิ่มจริงๆ ก็ดันไปตั้งเป็นองค์การมหาชนซะ จะได้ไม่ต้องมาเป็นภาระปวดหัวกับรายจ่ายประจำปี

แน่นอนว่าค่าใช้จ่ายต่างๆ พวกค่ายา เวชภัณฑ์ อุปกรณ์ต่างๆ ก็จะตึงมือมากขึ้นไปตามด้วย แม้ว่าแนวโน้มช่วงหลังกระทรวงสาธารณสุขจะได้งบมากขึ้นทุกปีก็ตาม แต่ก็ดูจะไม่สอดคล้องกับรายจ่ายและปริมาณงานที่มากขึ้นทุกปี โดยมี theme สังคมผู้สูงอายุเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้ภาระงานและค่าใช้จ่ายเพิ่มมากขึ้น ไม่นับพวกปัจจัยอย่างความสัมพันธ์ระหว่างบุคลากรสาธารณสุขและคนไข้ที่จะดูห่างเหินกันมากขึ้นทุกวัน เมื่อรวมกับระบบที่ยุ่งเหยิง การป้องกันคนไหลออกจากระบบโดยใช้วิธีให้คนที่อยู่ในระบบอยู่อย่างมีความสุขดูเหมือนจะเป็นเรื่องที่เป็นไปได้ยากมากจนแทบจะเป็นไปไม่ได้เลย

ปล. ในส่วนเรื่องตำแหน่งบรรจุ เราคงไม่ต้องไปห่วงหมอเค้าหรอก ในส่วนของข้าราชการพลเรือน กระทรวงสาธารณสุขถือว่าได้ตำแหน่งบรรจุมากที่สุด คือประมาณปีละ 5,000-6,000 คนต่อปี (คิดเป็นราวๆ 45-50% ของการบรรจุข้าราชการพลเรือนในปีนั้นทั้งหมด) แต่แน่นอนว่ามันก็ยังไม่พออยู่ดี จึงขึ้นกับการกำลังภายในของแต่ละวิชาชีพด้วยว่า ใครจะดึงตำแหน่งมาให้น้องๆได้มากขนาดไหน ซึ่งหมอ ได้มากสุดอยู่แล้ว ไม่ต้องห่วง เภสัชต่างหาก ที่น่าห่วง ฮ่าๆ

ทีนี้ ในเมื่อแก้ที่ระบบไม่ได้ จึงต้องใช้วิธีที่ง่ายกว่า นั่นจึงเป็นที่มาของการเพิ่มค่าใช้ทุนแพทย์จาก 4 แสนเป็น 2.5 ล้าน ดังที่เป็นข่าว เพื่อเป็นการบีบให้แพทย์อยู่ใช้ทุน ไม่ไหลออกนอกระบบเร็วเกินไปนัก

แล้วจะเกิดอะไรขึ้นตามมาบ้าง?

ตรงส่วนนี้ เป็นความคิดเห็นส่วนตัวของพี่ล้วนๆนะครับ ความจริงกับความเห็น อาจไม่เหมือนกันก็ได้

สธ. มีแผนจะผลิตแพทย์ราวปีละ 3,000 กว่าคน ไปอีก 10 ปี เป็นอย่างน้อย ซึ่งปัจจุบันเรามีแพทย์ (ที่มีชีวิต) 55,890 คน (ข้อมูล ณ วันที่ 30/12/60) หมายความว่าหากการผลิตเป็นไปตามแผน อีก 10 ปีข้างหน้า เราจะมีแพทย์ประมาณ 90,000 คนเลยทีเดียว ซึ่งถ้าดูจากตัวเลขล้วนๆ ไม่ดูปัจจัยอื่นเลย จะพบว่าตัวเลขนี้ ถือว่าเยอะกว่าความต้องการพอสมควรเลย แต่เอาละ ในความจริง คนที่มีสถานะแพทย์แต่ไปทำอย่างอื่น ก็มีไม่น้อย ไหลออกจากระบบไปก็มาก แล้วการผลิตแพทย์ก็เพิ่มแต่ในส่วนของแพทย์ทั่วไป หมอเฉพาะทางก็ยังคงผลิตเท่าเดิม ดังนั้นแพทย์เฉพาะทางก็น่าจะยังขาดเหมือนเดิม แต่พอมีการบังคับเรื่องเพิ่มค่าใช้หนี้ทุนแล้ว ตาม รพ.ชุมชนต่างๆก็จะมีแพทย์ทั่วไปมากขึ้น แต่การพยายามสอบเพื่อไปต่อแพทย์เฉพาะทางก็คงจะดุเดือดมากขึ้นทีเดียว (ถ้าแพทย์เฉพาะทางยังผลิตเท่าเดิม แต่แพทย์ทั่วไปมากขึ้น ก็เหมือนเป็นคอขวด คนที่ทนไม่ไหวจริงๆ ใช้หนี้ทุนครบก็คงลาออกอยู่ดี แต่คนที่จะออกโดยการหาทางไปต่อเฉพาะทางคงยากขึ้นกว่าแต่ก่อนมาก)

 


Share this:

Posted in บทความ.

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *