วิเคราะห์ประเด็น และตัวเลขที่น่าสนใจจากข่าว “หมอ-หมอฟัน-พยาบาล” ไทยไม่ขาดแคลนแต่กระจุกตัว ส่วนเภสัชกรยังขาด

จากข่าว “หมอ-หมอฟัน-พยาบาล” ไทยไม่ขาดแคลนแต่กระจุกตัว “เภสัชกร” ยังขาดแคลน !! นักสาธารณสุข ล้นตลาด !!

ขอรำลึกความหลังสักหน่อย ย้อนกลับไปปี 48-50 เวลามีข่าวแบบนี้ ก็จะมีอธิการบดีออกมาให้สัมภาษณ์เรื่องการแก้ไขปัญหาบุคลากรทางการแพทย์ เภสัชกร บลาๆๆ ตามด้วยมาด้วยการเปิดคณะเภสัช 555555+ เอาจริงๆ มุกแบบนี้เมื่อสัก 3-4 ปีที่แล้วก็ยังมีใช้กับคณะแพทย์อยู่นะ

เอาละๆ เข้าเรื่องกันดีกว่า พาดหัวข่าวน่าสนใจ แต่ตัวเลขในข่าวน่าสนใจกว่าครับ ลองมาดูกัน

อัตรากำลัง

ในข่าวบอกว่า อัตรารวม 2 วิชาชีพต่อคนไทยเกินกว่าสัดส่วนที่ WHO กำหนด 2.28 ต่อ 1,000 ประชากร แต่ถ้าไปดูใน WHO จริงๆ WHO มีทั้งใช้คำว่า health care professionals, health workers, doctors nurses and midwives ซึ่งเอาจริงๆความหมายมันก็ต่างกันมากโขอยู่นะครับ (คงต้องไปดูนิยามที่ WHO ให้ไว้อีกทีนึงครับ)

ขอเสริมนิดนึง พี่จะบอกว่า เวลาดูไอตัวเลขพวกนี้ ดูดีๆ มันมีกำหนดโดยหลายหน่วยงาน และมีอ้างอิงที่ต่างกัน การให้ข่าวสามารถทำให้ดูเยอะหรือน้อยก็ได้ เทคนิคก็คือการเปลี่ยนแหล่งอ้างอิงแค่นั้น แต่ถ้าหาแหล่งอ้างอิงเพื่อพลิกโมเมนตัมไม่ได้จริง เค้าจะใช้เทคนิคสัมภาษณ์จากผู้เชี่ยวชาญที่ให้โมเมนตัมไปในทางที่ต้องการแทนครับ

ตัวเลขที่น่าสนใจอีกส่วนคือตัวเลขนี้ครับ

ปริมาณกำลังคนด้านสุขภาพในปัจจุบัน

– แพทย์ มีจำนวน 50,573 คน สัดส่วนการดูแลประชาชนอยู่ที่ 1 ต่อ 1,292 คน
– พยาบาล มีจำนวน 158,317 คน สัดส่วนอยู่ที่ 1 ต่อ 419 คน
– ทันตแพทย์ มีจำนวน 11,575 คน สัดส่วนอยู่ที่ 1 ต่อ 5,643 คน
– ทันตาภิบาล มีจำนวน 6,818 คน สัดส่วนอยู่ที่ 1 ต่อ 9,581 คน
– เภสัชกร มีจำนวน 26,187 คน สัดส่วนอยู่ที่ 1 ต่อ 2,494 คน
– เทคนิคการแพทย์ มีจำนวน 15,200 คน สัดส่วนอยู่ที่ 1 ต่อ 4,298 คน
– นักกายภาพบำบัด มีจำนวน 10,065 คน สัดส่วนอยู่ที่ 1 ต่อ 6,490 คน
– สัตวแพทย์ มีจำนวน 8,000 คน สัดส่วนอยู่ที่ 1 ต่อ 8,165 คน
– นักวิชาการสาธารณสุข มีจำนวน 27,035 คน สัดส่วนอยู่ที่ 1 ต่อ 2,416 คน
– เจ้าพนักงานสาธารณสุขชุมชน มีจำนวน 27,006 คน สัดส่วนอยู่ที่ 1 ต่อ 2,419 คน
– แพทย์แผนไทย/ประยุกต์ มีจำนวน 30,371 คน สัดส่วนอยู่ที่ 1 ต่อ 2,151 คน

สถานการณ์การผลิตกำลังคนด้านสุขภาพ

– แพทย์ มีการผลิต 21 สถาบัน ผลิตได้ปีละ 3,121 คน
– พยาบาล มีการผลิต 86 สถาบัน ผลิตได้ปีละ 11,000 คน
– ทันตแพทย์ มีการผลิต 13 สถาบัน ผลิตได้ปีละ 616 คน และจะเพิ่มเป็น 826 คน
– ทันตาภิบาล มีการผลิต 7 สถาบัน ผลิตได้ปีละ 400 คน
– เภสัชกร มีการผลิต 19 สถาบัน ผลิตได้ปีละ 2,000 คน
– เทคนิคการแพทย์ มีการผลิต 12 สถาบัน ผลิตได้ปีละ 911 คน
– กายภาพบำบัด มีการผลิต 16 สถาบัน ผลิตได้ปีละ 850 – 900 คน
– สัตวแพทย์ มีการผลิต 9 สถาบัน ผลิตได้ปีละ 650 คน
– สาธารณสุข มีการผลิต 69 สถาบัน ผลิตได้ปีละ 10,988 – 14,197 คน
– แพทย์แผนไทย/ประยุกต์ มีการผลิต 27 สถาบัน ผลิตได้ปีละ 1,080 คน

ตัวเลขเภสัชกร จริง หรือ มั่วนิ่ม

มาดูเฉพาะตัวเลขเภสัชกร 26,187 คน ซึ่งเอาจริงๆ พี่ไม่แน่ใจว่าตัวเลขนี้อ้างอิงมาจากไหนนะครับ เพราะที่ผ่านมาไม่เคยมีการเปิดเผยอย่างเป็นทางการว่ามีเภสัชกรที่ active อยู่จริงๆเท่าไร แต่ถ้านับเฉพาะตัวเลขใบประกอบนี่น่าจะใกล้ๆหรือทะลุ 35000 ไปแล้ว (แต่ตัวเลขใบประกอบมันเป็นการนับทั้งเภสัชที่ active + inactive รวมกัน)

มาดูตัวเลขการผลิตไปละ 2000 คนต่อปี ตัวเลขนี้พี่ก็ไม่รู้ว่าเอามาจากไหนเหมือนกัน คือถ้านับเภสัชที่ขึ้นทะเบียนใหม่จริงๆช่วงปี 44-51 จะมีประมาณ 900-1200 คน/ปี หลังจากนั้นปี 52-56 ตัวเลขจะอยู่ 1400-1700 คน/ปี (เอาจริงๆมีทะลุ 1600 แค่ปี 53 กับ 54) หลังจากนั้นตัวเลขก็อยู่ที่ราวๆ 1500 คน บวกลบไม่เกิน 300 (ปีล่าสุดน้องกระซิบมาว่ามีแค่ 1400 คน) จะเห็นได้ว่ายังไม่มีปีไหนที่กำลังการผลิตเภสัชกรมีถึง 2000 คนต่อปี ดังนั้นตัวเลข 2000 คนต่อปี จึงน่าจะเป็นการคาดการณ์กรณีเภสัชกรผลิตในอัตราเต็มกำลังมากกว่าตัวเลขจริงๆ

คำถามคือ ทำไมเภสัชกรไม่สามารถผลิตได้เต็มกำลัง อันนี้น่าจะเป็นไปตามที่ข่าวว่าจริงๆคือ คนเรียนเภสัชซิ่วค่อนข้างเยอะ (มอไหนคนซื่วเยอะก็เยอะ มอไหนไม่ซิ่ว ก็ไม่ซิ่ว แปลกดี)

ทีนี้ถามว่าจบกันมาแต่ละปี 1500-1800 คน ถามว่ามันน้อยไหม เอาจริงๆก็ไม่น้อยนะครับ แต่พี่ๆที่เป็นเภสัชกรแล้ว เชื่อว่าเคยเจอปัญหาแบบนี้ (ไม่ว่าจะ รพ. ร้านยา หรือโรงงาน)

1. งานเยอะ คนขาด
2. ไม่มีคนมาสมัคร
3. รอน้องจบใหม่
4. น้องจบออกมาแล้ว ไม่เห็นมีใครมาสมัคร
5. มานั่งคุยกันว่า จบแล้วมันหายไปไหนกันหมด (วะ)

เอาจริงๆ พี่ว่า ที่เภสัชไม่พอ ไม่ได้เป็นเพราะผลิตไม่พอ แต่เป็นเพราะเภสัชเนี่ยแหละ เลิกเป็นเภสัช (ฮา) (กับอีกกรณีที่เป็นไปได้คือ พี่รู้สึกว่าน้องรุ่นหลังๆค่อนข้างใจเย็นในการหางานมาก บางคนจบมาแล้วเป็นปี ถึงจะเริ่มลงหลักปักฐานกับงานประจำ)

จริงๆแล้ว พี่ๆ เค้าไม่ได้กลัวน้องจบมาแย่งงานนะครับ เค้าอยากได้น้องมาช่วยงานใจจะขาด 55555+

มองในแง่การเมือง

ความเห็นส่วนตัวนะครับ ข่าวนี้ออกมาจากฝั่ง สช. ซึ่งหน้าที่หลักของ สช. คือ “ประสานด้านนโยบายและยุทธศาสตร์ของรัฐบาล จัดทำรายงานสถานการณ์ของระบบสุขภาพ” ซึ่งวัตถุประสงค์ของข่าวหลักๆเลยก็คือ กระตุ้นว่า ในอนาคตแพทย์จะไม่ได้ขาดแคลนอีกต่อไปแล้ว (แต่ก็ไม่ได้ล้นนะ ค่อนข้างพอดีแล้ว) ซึ่งน่าจะเป็นต่อเนื่องมาจากการที่ใน 5-6 ปีที่ผ่านมานี้ มีมหาวิทยาลัยจำนวนมากเปิดคณะแพทย์เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยให้เหตุผลเรื่องความขาดแคลนเป็นหลัก โดยที่สถานศึกษา กระทรวงสาธารณสุข และฝั่งแพทย์เอง ไม่ได้มีการ co กันจริงๆจังๆเรื่องอัตรากำลังคนสักเท่าไรนัก (อัตรากำลังคนที่แท้จริง ต้องดูที่นโยบายเชิงโครงสร้างเป็นหลัก ซึ่งที่ผ่านมายังไม่มีความชัดเจนเท่าไรนัก) และอีกวัตถุประสงค์หลักอีกอย่างก็คือบอกว่า ปัญหาจริงๆแล้ว ไม่ใช่ผลิตไม่พอ แต่เป็นปัญหาเรื่องการกระจายตัวต่างหาก ซึ่งที่ผ่านมา สธ. ไม่เคยแก้ปัญหานี้ได้เลย (ระบบเน่า ใช้หนี้ครบ ก็เผ่นกันหมด)

ในส่วนของสถานศึกษาเองตอนนี้ทุกแห่งต้องเอาตัวรอดครับ ปัญหาหลักตอนนี้คือ เด็กมีจำนวนน้อยลงมาก (เด็กเกิดปีล่าสุดไม่ถึงครึ่งของปี 2510 นะครับ) ซึ่งมหาลัยเล็กๆตอนนี้เริ่มเจอปัญหาไม่มีเด็กเรียนในบางคณะกันแล้ว ดังนั้นทุกที่ต้องเอาตัวรอดครับ วิธีการที่ง่ายที่สุดก็มีอยู่ 2 อย่างคือ

1. ลดต้นทุน ปลดอาจารย์ (โดยเฉพาะคณะที่ไม่ทำกำไรออก)
2. เปิดคณะยอดฮิต และคณะที่กำไรได้ดี (โดยเฉพาะคณะสายแพทย์)

การที่หลายมหาลัยออกนอกระบบแล้ว ก็เป็นการบีบให้มหาลัยต้องหาเงินเองมากขึ้น ถึงแม้หลายมหาวิทยาลัยยืนยันว่าสามารถหารายได้ได้หลายทางโดยไม่จำเป็นต้องขึ้นค่าเทอม แต่ผลที่เห็นก็ประจักษ์อยู่แล้วว่า มีเพียงไม่กี่มหาวิทยาลัยที่ทำได้จริงๆ ภายใน 5-10 ปี ที่มหาวิทยาลัยทยอยกันออกนอกระบบนี้ ส่วนใหญ่ค่าเทอมขึ้นไปกันตั้งแต่ 50-200% ส่วนมหาวิทยาลัยที่สามารถตรึงค่าเทอมได้นั้น มักเป็นมหาวิทยาลัยที่มีทรัพย์สิน โดยเฉพาะทรัพย์สินให้เช่าเยอะ (เช่น ที่ดินรอบๆมหาวิทยาลัย) ดังนั้นการเปิดคณะยอดฮิตและคณะที่กำไรได้ดี ก็เป็นอีกทางออกหนึ่งที่หลายมหาวิทยาลัยเลือกใช้ครับ

 


Share this:

Posted in บทความ.

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *