มุมมอง ช้าง สิ่งที่สัมผัส แตกต่าง

คนนู้นก็ว่าไม่ แต่คนนี้ว่าดี สรุปอาชีพนี้หรือคณะโน้น มันดีหรือไม่ดีกันแน่

พอดีเคยโพสต์เกี่ยวกับยิ่งมีข้อมูลเยอะ เด็กไทยก็ยิ่งงง ไม่รู้จะเรียนอะไรดี แล้วก็มีน้องคนนึงบอกว่า ไปอ่านกระทู้ บางคนก็บอกว่าดี บางคนก็บอกว่าไม่ดี ยิ่งข้อมูลเยอะ ยิ่งงงกว่าเดิมจริงๆ

เรียนอะไรดี

คือเราต้องลองนิยามความหมายคำว่าดีของเราก่อนครับ สำหรับบางคน คำว่าดีคือมีเงินเดือนดี ทำงานที่ไม่ต้องเครียด มีเวลาให้ครอบครัว แต่สำหรับบางคน งานที่ดีคืองานที่มีอำนาจ งานที่ต้องใช้ความพยายามและความท้าทาย งานที่มีคนนับหน้าถือตา

แต่ละงาน มีทั้งข้อดีและข้อเสียในตัวมันเองทั้งนั้น ขึ้นอยู่กับว่าสิ่งตอบแทนที่เราได้จากงานนั้น มันตอบโจทย์ชีวิตเราไหม แล้วเรายอมรับข้อเสียและต้นทุนที่เสียไปจากงานนั้นได้หรือเปล่า (ต้นทุนอาจเป็นเวลา ค่าเสียโอกาส และแรงงานที่เราเสียไป) เพราะฉะนั้นงานที่ดีสำหรับบางคน อาจเป็นงานที่แย่สำหรับอีกคนก็ได้

สิ่งหนึ่งที่ต้องยอมรับคือ เรามีกูรูเต็มไปหมดบนโลกออนไลน์ และที่สำคัญกูรูคนนั้นมักจะบอกว่า รู้จักคนทำอาชีพนี้ มีเพื่อนทำอาชีพ มีญาติทำงานอันนี้ น้อยคนที่จะบอกว่าทำงานอันนี้จริงๆ เพราะฉะนั้นคนที่บอกว่าดีตามกระทู้ต่างๆให้ลองพิจารณาดูว่าเค้าทำงานด้านนั้นอยู่จริงๆหรือเปล่า เพราะคนที่ทำงานอยู่จริงๆ จะเห็นทั้งข้อดีและข้อเสียของงานนั้นจริงๆ

แต่ถ้าคนนั้นไม่ได้ทำ น้องต้องเข้าใจอย่างนึงว่า คนเรามักอยากได้ อยากมี อยากเป็น ในสิ่งที่ตัวเองไม่มีเสมอๆ นั่นทำให้มนุษย์เรา มักจำในสิ่งที่ตัวเองไม่มี แต่คนอื่นมี (จะบอกว่าอิจฉาก็ได้) และที่สำคัญ หากเป็นด้านที่ไม่ดี ธรรมชาติของคนเรา ก็จะไม่แสดงออกให้คนอื่นรู้หรอก (แต่จะบ่นๆให้ฟังกันเองเป็นการภายใน) เหมือนเราเล่น facebook เราได้กินอาหารอร่อย ได้ไปเที่ยว เราก็อัพรูปลง คนอื่นเค้าก็คิดว่าเราชีวิตดี แต่เบื้องหลังความสุขนั้นเราพยายามหนักแค่ไหนไม่มีใครรู้ แต่ถ้ามีคนโจมตีเราเรื่องชีวิตดีๆเมื่อไร อย่าง หน่วยงานนี้ ทำงานในองค์กรนี้ สบายจะตาย เงินก็ดีกว่า เราก็มักจะพรรณาในด้านที่ยากลำบากให้เค้าเห็นทันที

“มนุษย์เราก็เป็นแบบนี้” การแสดงความคิดเห็นในเว็บบอร์ดต่างๆก็เหมือนกัน

วิธีที่ดีที่สุดว่าตัวน้องมีความสุขกับงานไหนจริงๆ คือน้องต้องลองทำมันจริงๆ แต่ถามว่าในชีวิตการเรียน น้องจะมีโอกาสได้ลองทำหรือเปล่า ก็ต้องบอกว่า “ยาก”

เครื่องมือที่ช่วยน้องค้นหาตัวเองที่อาจารย์แนะแนวชอบใช้ ก็มักเป็นแบบทดสอบทางจิตวิทยา แล้วสรุปออกมาว่า เราเหมาะกับอาชีพไหน ซึ่งแบบทดสอบนั้นก็จะทดสอบเพื่อค้นหาบุคลิกภาพของเรา รวมถึงวิชาเรียนที่เราชอบและเราถนัด เพื่อจับคู่งานให้ตรงกับบุคลิกภาพและความสามารถของเรา แต่พี่ไม่ชอบวิธีนี้ คือ วิธีนี้มันโอเค ถ้าใช้ค้นหาตัวเองว่าเรามีบุคลิกแบบไหน หรือลึกๆแล้วเราเก่งเรื่องอะไร แต่ถ้าเอามาจับคู่กับงาน ส่วนตัวพี่ไม่โอเค เพราะอย่างแรก คนคิดแบบทดสอบ มันไม่เคยทำงานนั้นจริงๆ อย่างที่สอง งานจริงๆ มีเยอะกว่าในแบบทดสอบ อย่างที่สาม พี่เห็นว่า ถ้าเอาคนที่มีความสามารถแบบเดิม บุคลิกแบบเดิม ไปใส่ในงานเดิม ผลลัพธ์ที่ได้ก็เหมือนเดิม แต่ถ้าคนที่มีบุคลิกแปลกใหม่ ความสามารถใหม่ๆ มุมมองใหม่ๆ เข้าไปทำงานเดิม ผลที่ได้อาจออกมาเป็นเละ หรืออาจจะเกิดการเปลี่ยนแปลงระบบ วิธีคิด และการทำงานในสายงานนั้นใหม่ไปเลยก็ได้ ลองคิดง่ายๆว่าทุกวันนี้ เราจะหาช่างซ่อมของสักชิ้น ที่เก่ง ดี และไม่โกง สักคนนั้นหายากเหลือเกิน หากลองเปลี่ยนเอาคนบุคลิกแบบหมอไปทำงานช่าง ผลจะออกมายังไงบ้าง? มันอาจจะดีขึ้นก็ได้นะ

ในส่วนของเภสัชเองนั้นก็มีหลากหลาย field หลายบทบาทหน้าที่ และแต่คนก็มองเห็นแต่งานในส่วนที่ตัวเองสัมผัส ไม่ได้รู้ลึกซึ้งว่างานของอีกฝั่งเป็นยังไงบ้าง

เหรียญมี 2 ด้านเสมอ ขึ้นอยู่กับคนนั้นเค้าอยากให้เราเห็นในด้านไหน หรือคนนั้นเคยสัมผัสกับด้านไหนมา “ช้างตัวนี้ก็เช่่นกัน” ทุกคนต่างก็จับช้างเหมือนกัน แต่เพียงแค่จับคนละส่วน ก็มากพอที่ทำให้ความคิดที่ออกมานั้นไม่เหมือนกัน

มุมมอง ช้าง สิ่งที่สัมผัส แตกต่าง

รูปภาพจาก : Himmelfarb J et al. Kidney International 2002; 62: 1524

 


Share this:

Posted in บทความ.

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *