การประชุมวิชาการของชมรมเภสัชกรภาคใต้
ระหว่าง 22 – 23 กรกฎาคม 2566 ณ. โรงแรมสแปลช บีช รีสอร์ท ต.ไม้ขาว อ.ถลาง จ.ภูเก็ต
สภาเภสัชกรรมได้รับเชิญร่วมเสวนากับวิชาชีพต่างๆ ในหัวข้อ Interprofessional Telehealth Reconciliation
โดยมี อ.ดร.นพ นวนรรณ ธีรอัมพรพันธ์ จากคณะแพทย์ศาสตร์ รพ.รามาธิบดี ม.มหิดล ผศ.นพ สุรัตน์ ตันประเวช คณะแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ รศ (พิเศษ) ภก. กิตติ พิทักษ์นิตินันท์ นายกสภาเภสัชกรรม ภก คมสัน โสตางกูร นายกสมาคมเภสัชโรงพยาบาล รศ.ดร.สุจิตรา เหลืองอมรเลิศ นายกสภาการพยาบาล และ ภญ วรสุดา ยูงทอง ผู้อำนวยการกองยา ร่วมเป็นวิทยากร
แต่ละวิชาชีพได้นำเสนอความก้าวหน้าและความเกี่ยวข้องของแต่ละวิชาชีพ ด้าน Digital + Health Trend โดยสรุปแล้วทุกวิชาชีพมีเป้าหมายเดียวกันคือ การช่วยให้ผู้ป่วยเข้าถึงบริการทางการแพทย์อย่างง่ายและสะดวกขึ้นโดยมี Telehealth เป็นเครื่องมือ ผู้ป่วยที่ไม่สะดวก ไม่สามารถมาที่ รพ.ได้ เช่น คนสูงอายุ ผู้ป่วยติดเตียง ผู้ป่วยที่มีเหตุผลและความจำเป็น
รศ (พิเศษ) ภก. กิตติ พิทักษ์นิตินันท์ นายกสภาเภสัชกรรมได้เล่าถึงการดำเนินการเรื่อง Telepharmacy ของสภาเภสัชกรรม ซึ่งทำต่อเนื่องจากสภาเภสัชกรรมวาระ 9 โดยทำให้เกิดการปฏิบัติได้จริง มีการรับฟังความคิดเห็น ก่อนออกมาเป็นรูปธรรมในการรับรอง Platform ซึ่งเป็นไปตามมาตรฐานที่กำหนดตามประกาศและคุ้มครองทั้งผู้รับบริการและผู้ให้บริการ ในเรื่อง PDPA และ ความปลอดภัยของข้อมูล รวมทั้งการมี Platform ของวิชาชีพที่ให้เภสัชกรใช้ฟรีโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย Platform ไม่ได้บังคับให้ทุกคนใช้ ใครใช้ Platform ที่สภารับรองก็แปลว่ามีความปลอดภัยเพราะมีสภามาดูให้ เรื่องการบันทึกวีดีโอ สภาฯ ได้ปรับข้อกำหนดให้ Platform ไม่ต้องเก็บวีดีโอการให้บริการ แต่ให้มีวีดีโอที่ทำให้เห็นภาพผู้ให้บริการว่าอยู่ในร้านจริง และสามารถยืนยันสถานที่ให้บริการได้ (ไม่ได้ไปอยู่นอกร้านหรืออยู่ที่ส่วนกลางของบริษัท ฯ และให้บริการไปทั่วประเทศเพื่อปกป้องร้านยา และให้ประชาชนเข้าถึงได้สะดวกขึ้น) ประเด็นเรื่องการส่งมอบยา ทางสภาเภสัชกรรมได้หารือและเสนอแนะกับทางสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาไปแล้วว่า ควรให้มีการประกาศมาตรฐานการส่งมอบหลังจากการให้บริการ Telepharmacy ซึ่งทางอย.ก็ได้แจ้งความคืบหน้าและจะต้องพิจารณาให้รอบด้านก่อนประกาศออกไป
นอกจากนี้ในการเสวนายังมีการจัด Interactive poll 3 คำถามให้ที่ประชุมร่วมออกความคิดเห็นในช่วงสุดท้ายซึ่งสะท้อนให้เห็นความเข้าใจและความต้องการของเภสัชกรซึ่งเป็นผู้ให้บริการ ผศ. นพ สุรัตน์ ตันประเวช ผู้เชี่ยวชาญด้านTelemed ได้ชื่นชม Application ของสภาเภสัชกรรม และแนะนำให้มีการใช้กันให้กว้างขวางมากๆ ซึ่งถูกต้องตามหลักการที่ให้มีการควบคุมดูแลแต่ง่ายต่อการใช้งาน และพัฒนาปรับไปตามการใช้จริงตลอดเวลา
หลังจากนี้ทางสภาเภสัชกรรมจะได้นำประเด็นต่างๆ มาร่วมพิจารณากับภาคส่วนต่างๆ เพื่อให้เภสัชกรมีบทบาทการขับเคลื่อนด้าน Digital Health ไปในทิศทางที่เป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภค และวิชาชีพต่อไป
Share this: